คลื่น (wave) เป็นปรากฏการณ์ที่แสดงการถ่ายโอนพลังงานออกจากแหล่งกำเนิด ขณะที่มีการเกิดคลื่น คลื่นมีการเคลื่อนที่รูปแบบหนึ่งในลักษณะเฉพาะ คลื่นมีหลายแบบ เช่น คลื่นกล คลื่นตามขวาง คลื่นตามยาว คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า องค์ประกอบหลักของคลื่นได้แก่ สันคลื่น ยอดคลื่น ท้องคลื่น การกระจัด แอมพลิจูด ความยาว คาบ ความถี่
การจำแนกคลื่น สามารถจำแนกได้หลายวิธี
1. จำแนกคลื่นตามความจำเป็นของการใช้ตัวกลางในการแผ่ สามารถแบ่งคลื่นออกได้ 2 ชนิด คือ
1.1) คลื่นกล (mechanical wave) เป็นคลื่นที่เกิดจากการสั่นของแหล่งกำเนิดคลื่น ต้องอาศัยตัวกลางในการเคลื่อนที่ โดยอนุภาคของตัวกลางสั่นอยู่กับที่ เช่น คลื่นน้ำ คลื่นเสียง คลื่นในเส้นเชือก
1.2) คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (electromagnetic waves) เป็นคลื่นที่เกิดจากการเหนี่ยวนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กและสนามไฟฟ้า ในทิศทางตั้งฉากซึ่งกันและกัน และต่างก็ตั้งฉากกับทิศทางการแผ่ของคลื่น คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสามารถแผ่ไปได้ในบริเวณสุญญากาศ ซึ่งไม่มีตัวกลางอยู่เลย หรือแผ่ผ่านบริเวณที่มีตัวกลางต่างๆ ก็ได้ คลื่นประเภทนี้ เช่น คลื่นวิทยุ เรดาร์ ไมโครเวฟ แสง รังสีอัตราไวโอเลต รังสีเอ็กซ์ เป็นต้น
2. จำแนกคลื่นตามลักษณะการสั่นของแหล่งกำเนิด หรือตามลักษณะการแผ่ แบ่งออกได้ 2 ชนิดคือ
2.1) คลื่นตามขวาง (transverse wave) เป็นคลื่นที่มีทิศทางการสั่นของตัวกลาง หรือทิศทางการเปลี่ยนแปลงตั้งฉากกับทิศทางการแผ่ (ทิศทางการเคลื่อนที่ของคลื่น) เช่น คลื่นในเส้นเชือก คลื่นผิวน้ำ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ดังนั้น คลื่นตามขวางอาจมีทั้งคลื่นกล และคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าก็ได้
2.2) คลื่นตามยาว (longitudinal wave) เป็นคลื่นที่มีทิศทางการสั่นของตัวกลางอยู่ในแนวขนานกับการเคลื่อนที่ของคลื่น เช่น คลื่นเสียง คลื่นที่เกิดจากการอัดและการขยายตัวในขดลวดสปริง เป็นต้น ดังนั้นคลื่นตามยาวทุกชนิดเป็นคลื่นกล
ปริมาณที่เกี่ยวกับคลื่น
1. สันคลื่นหรือยอดคลื่น คือ ตำแหน่งที่อนุภาคของตัวกลางเคลื่อนที่ขึ้นสูงสุด เป็นตำแหน่งที่มีการกระจัดเป็นบวกมากที่สุดของคลื่น
2. ท้องคลื่น คือ ตำแหน่งที่อนุภาคของตัวกลางเคลื่อนที่ลงต่ำสุด เป็นตำแหน่งที่มีการกระจัดเป็นลบมากที่สุดของคลื่น
3. การกระจัด คือ ระยะทางในแนวตั้งฉากจากระดับปกติไปถึงตำแหน่งใดๆ บนคลื่น การกระจัดมีทั้งค่าบวกและค่าลบ
4. แอมพลิจูด คือ ระยะการกระจัดที่มีค่ามากที่สุด มีหน่วยเป็นเมตร
5. ความยาวคลื่น เป็นความยาวของคลื่น 1 ลูกคลื่น ซึ่งวัดจากระยะห่างระหว่างสันคลื่นที่อยู่ถัดกัน หรือระยะห่างระหว่างท้องคลื่นที่อยู่ถัดกัน มีหน่วยเป็นเมตร
6. คาบ คือ เวลาที่ใช้ในการเคลื่อนที่ของคลื่น 1 ลูกคลื่น หรือ 1 รอบ
7. ความถี่ คือ จำนวนลูกคลื่นหรือจำนวนรอบของคลื่นที่ผ่านจุดจุดหนึ่งใน 1 หน่วยเวลา มีหน่วยเป็นรอบต่อวินาที หรือ เฮิรตซ์
เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร