ทรัพยากรธรรมชาติ หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตมนุษย์ แบ่งออกเป็น ทรัพยากรธรรมชาติที่มีชีวิต เช่น ต้นไม้ สัตว์ป่า และมนุษย์ กับทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่มีชีวิต ซึ่งอาจอยู่ในสถานะของแข็ง เช่น ดิน หิน และแร่ธาตุในสถานะของเหลว เช่น น้ำ น้ำมันเชื้อเพลิง และในสถานะแก๊ส เช่น อากาศ เป็นต้น ทรัพยากรธรรมชาติ อาจจำแนกได้เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่เมื่อใช้แล้วหมดไป เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง แก๊สธรรมชาติ แร่ธาตุต่างๆ ถ่านหิน และทรัพยากรที่มีจำนวนมากใช้ไม่หมด เช่น แสงแดด น้ำ และทรัพยากรประเภทที่สามารถฟื้นฟู หรือสร้างทดแทนได้ เช่น ดิน พืช สัตว์ และป่าไม้ เป็นต้น ตัวอย่างทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ เช่น ทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรดิน เป็นต้น
ทรัพยากรป่าไม้
เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่า อำนวยประโยชน์มหาศาลให้แก่มนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ประโยชน์ที่ได้รับจากป่าไม้โดยตรง ได้แก่ การก่อสร้างที่อยู่อาศัย เครื่องใช้ต่าง ๆ เชื้อเพลิง สมุนไพร เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องสำอาง เป็นต้น
ประโยชน์ที่ได้รับจากป่าไม้โดยอ้อม ได้แก่ การเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร แหล่งเก็บกักน้ำ ทำให้เกิดฝน สัตว์ป่า เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่า อำนวยประโยชน์แก่มนุษย์ ประโยชน์ที่ได้รับจากสัตว์ป่าโดยตรง คือ เป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น เป็นอาหาร นอกจากนี้มนุษย์ยังใช้แรงงานสัตว์ป่าบางชนิด เช่น ใช้ช้างในการลากซุง เป็นต้น
ทรัพยากรดิน
เป็นวัตถุธรรมชาติที่ห่อหุ้มผิวโลก เปลี่ยนแปลงมาจากการสลายตัวของหิน รวมกับการสลายตัวของซากพืชซากสัตว์ จากการกระทำของปัจจัยต่างๆ เช่น ความร้อน น้ำ ความกดดัน เป็นต้น ดินมีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ 4 อย่าง ได้แก่ แร่ธาตุ น้ำ อากาศ และอินทรียวัตถุ
ดินมีลักษณะเป็นชั้นๆ ดินชั้นบน มีแร่ธาตุ จุลินทรีย์ น้ำ และอากาศมาก จึงเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช ดินชั้นล่าง เป็นชั้นที่ลึกลงไป เนื้อดินมีความแน่นมากกว่าดินชั้นบน รากพืชแทรกลงไปได้น้อยและมีธาตุอาหารของพืชน้อย ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต
ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ จะต้องมีสภาพของกรดหรือเบสเหมาะสม คือเป็นกลาง มีค่า pH 6-7 มีปริมาณแร่ธาตุพอเหมาะ
เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร