ชีวนิเวศ หมายถึง พื้นที่หรือภูมิประเทศที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ในสภาวะแวดล้อมที่มีสภาพภูมิอากาศอย่างเดียวกัน เช่น ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ และสภาพดิน โดยชีวนิเวศแต่ละแห่งจะมีสภาพแวดล้อมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละพื้นที่ แบ่งออกเป็น 2 ระดับคือ ชีวนิเวศระดับโลก เช่น ทุนดรา ไทกา เขตอบอุ่น เขตร้อน ทะเลทราย และชีวนิเวศระดับท้องถิ่น เช่น ป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ป่าชายเลน ป่าชายหาด พื้นที่การเกษตร และขอนไม้ผุ เป็นต้น
1. ชีวนิเวศระดับโลก
พื้นที่ต่างๆ บนโลกนั้น มีสภาพภูมิอากาศและสภาพภูมิประเทศแตกต่างกัน ทำให้แต่ละพื้นที่มีชีวนิเวศแตกต่างกันออกไปด้วย ชีวนิเวศระดับโลกเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ และแต่ละแห่ง แต่ละละติจูด จะมีสภาพภูมิประเทศ ดิน สิ่งปกคลุมดิน ภูมิอากาศ ปริมาณน้ำฝน เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละแห่งดังนี้
- ชีวนิเวศทุนดรา หนาวมาก ฝนตกน้อย มีน้ำแข็งปกคลุมพื้นดินเกือบทั้งปี
- ชีวนิเวศไทกา หรือชีวนิเวศป่าสน เป็นป่าที่มีต้นสนเยอะ และมีต้นสนหลายชนิด อากาศเย็น พบมากแถบรัสเซีย แคนาดา บริเวณใกล้ๆ ขั้วโลกเหนือ ในประเทศไทยพบป่าสนบนภูเขาสูงๆ เช่น ภูเรือ ภูกระดึง ภูสอยดาว
- ชีวนิเวศเขตอบอุ่น เป็นป่าที่มีใบไม้เปลี่ยนสี ป่าชนิดนี้จะมี 4 ฤดูคือ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง ฤดูหนาว และฤดูใบไม้ผลิ โดยต้นไม้จะผลัดใบก่อนถึงฤดูหนาว และจะแตกใบใหม่อีกครั้งก่อนจะเข้าฤดูร้อน พบมากที่จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ทวีปยุโรป และอเมริกาฝั่งตะวันออก
- ชีวนิเวศเขตร้อน เป็นป่าในเขตร้อนชื้น มีต้นไม้สูงใหญ่และเขียวตลอดทั้งปี มี 3 ฤดูคือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว หากเราเดินเข้าไปในป่าประเภทนี้จะมืดๆ แทบมองไม่เห็นแสงแดด เพราะจะมีต้นไม้หลายระดับ ทั้งต้นไม้สูงๆ ต้นไม้ขนาดกลาง ไม้พุ่ม คอยแผ่กิ่งก้านออกมาเพื่อรับแสง ในป่าที่แสงแดดตกไม่ถึงพื้นแบบนี้ เราอาจเรียกว่า “ป่าดิบ” หรือ “ป่าดงดิบ” พบป่าเขตร้อนได้บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และลุ่มน้ำอเมซอนในทวีปอเมริกาใต้
- ชีวนิเวศทะเลทราย เป็นเขตแห้งแห้ง กลางวันร้อน กลางคืนหนาว
2. ชีวนิเวศระดับท้องถิ่น
เกิดขึ้นเนื่องจากในพื้นที่ของแต่ละชีวนิเวศ มีสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ดิน น้ำ แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ชีวนิเวศป่าดิบชื้น ชีวนิเวศป่าดิบเขา ชีวนิเวศป่าชายเลน ชีวนิเวศป่าชายหาด ชีวนิเวศพื้นที่การเกษตร ชีวนิเวศขอนไม้ผุ เป็นต้น
เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร