ความหลากหลายของสปีชีส์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 52.1K views



สปีชีส์ (species) คือ กลุ่มของสิ่งมีชีวิตที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกัน และสามารถผสมพันธุ์กันแล้วให้ลูกที่ไม่เป็นหมัน สิ่งมีชีวิตสปีชีส์เดียวกันก็อาจจะมีลักษณะบางอย่างต่างกันได้ เช่น รูปร่าง สี โดยอาจมีการเกิดขึ้นของสปีชีส์ใหม่ได้เช่นกัน เมื่อสมาชิกในกลุ่มสปีชีส์เดียวกันไม่ผสมพันธุ์กัน

สิ่งมีชีวิตต่างสปีชีส์กันไม่สามารถผสมพันธุ์กันได้ แต่ในบางกรณี สิ่งมีชีวิตต่างสปีชีส์กัน แต่มีความใกล้ชิดทางพันธุกรรม ก็อาจผสมพันธุ์กันให้รุ่นลูกได้ แต่รุ่นลูกนั้นจะเป็นหมัน เช่น ม้าลายเพศผู้ กับม้าเพศเมีย สามารถผสมกันได้ม้าลูกผสม หรือ Zorse

ภาพ : shutterstock.com

สิ่งมีชีวิตสปีชีส์หนึ่งจะมีลักษณะเฉพาะที่ต่างไปอีกสปีชีส์หนึ่ง และแม้แต่ภายในสปีชีส์เดียวกันก็ยังมีความหลากหลายของลักษณะเกิดขึ้นด้วย ซึ่งก็คือ ความหลากหลายทางพันธุกรรม เป็นความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์ของพืช หรือสัตว์สปีชีส์เดียวกัน

 

การเกิดสปีชีส์ใหม่ เกิดจากการที่สมาชิกกลุ่มย่อยของสปีชีส์เดียวกันไม่ผสมพันธุ์กัน อาจเนื่องจากสาเหตุทางกายภาพ คือ เกิดสิ่งกีดขวางทางภุมิศาสตร์ เช่น แม่น้ำ ภูเขา หรือเกาะที่อยู่ห่างไกลมหาศาล รวมทั้งสาเหตุทางชีวภาพ เช่น การอพยพย้ายถิ่นแล้วไม่กลับมาผสมพันธุ์ในบริเวณเดิม หรือมีพฤติกรรมแตกต่างกัน เช่น พฤติกรรมการหาอาหาร พฤติกรรมการสืบพันธุ์ เป็นต้น

สิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ เนื่องจากสิ่งมีชีวิตมีความสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน ถ้าสิ่งมีชีวิตชนิดใดชนิดหนึ่งสูญพันธุ์ไป ก็จะกระทบกระเทือนต่อสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ ในระบบนิเวศด้วย ความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศหนึ่ง ยังอาจมีผลเกื้อกูลต่อระบบนิเวศอื่นๆ เช่น ป่าไม้เป็นแหล่งต้นน้ำที่มีผลต่อระบบนิเวศในลำธาร ป่าชายเลน และแนวปะการังเป็นแหล่งอภิบาลตัวอ่อนของสิ่งมีชีวิตในทะเล หากมีการทำลายป่าต้นน้ำ ป่าชายเลนหรือแนวปะการัง ย่อมจะมีผลกระทบต่อความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกัน

 

เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร