เทคโนโลยีชีวภาพ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 18.4K views



เทคโนโลยีชีวภาพ เป็นการนำวิทยาการความรู้ที่สามารถนำสิ่งมีชีวิต หรือผลผลิตจากสิ่งมีชีวิตมาใช้ หรือปรับเปลี่ยน ประยุกต์ เพื่อใช้ประโยชน์ตามความต้องการ การใช้เทคโนโลยีชีวภาพมีความซับซ้อนมากขึ้น จนถึงระดับการเปลี่ยนแปลงยีน โดยการใช้ความรู้ทางพันธุวิศวกรรม เป็นผลให้เกิดสิ่งมีชีวิตแปลงพันธุ์ขึ้นมากมาย ตัวอย่างเช่น พันธุวิศวกรรม การโคลน การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การเพาะเลี้ยงเซลล์ ลายพิมพ์ DNA เป็นต้น

ภาพ : shutterstoc.com

 

1. เทคโนโลยีชีวภาพแบบดั้งเดิม

เป็นการนำความรู้พื้นฐานไปใช้ อาทิเช่น การผลิตเนยแข็งจากราหรือแบคทีเรียที่เปลี่ยนตะกอนนมเป็นเนยแข็ง การผลิตนมเปรี้ยวจากการหมักของแบคทีเรียในนมพร่องไขมัน การผลิตซีอิ๊วจากการหมักถั่วเหลืองโดยแบคทีเรียหรือรา การกำจัดน้ำเสียโดยใช้แบคทีเรียซึ่งย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำ การปลูกพืชในน้ำยาแทนการปลูกพืชในดิน การเตรียมวัคซีนโดยการกระตุ้นให้สัตว์ทดลองสร้างภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

 

2. เทคโนโลยีชีวภาพยุคใหม่

2.1) พันธุวิศวกรรม เป็นการนำยีนจากสิ่งมีชีวิตหนึ่งไปเชื่อมต่อกับ DNA ของสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง ได้ยีนหรือ DNA สายผสม สิ่งมีชีวิตที่เป็นฝ่ายรับยีน จะสามารถสังเคราะห์โปรตีนชนิดที่ถูกกำหนดโดยยีนที่ได้รับมา เช่น การนำยีนที่สร้างฮอร์โมนอินซูลินของคน ไปแทรกใน DNA ของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียนั้นสามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินชนิดเดียวกับของคนได้ เรียกสิ่งมีชีวิตที่เกิดจากกระบวนการพันธุวิศวกรรมว่า สิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม หรือ GMOs โดยพืชที่ได้จากวิธีการนี้ เรียกว่า พืชจำลองพันธุ์

ภาพ : shutterstock.com

 

       2.2) การโคลน หมายถึง การสร้างสิ่งมีชีวิตใหม่ ซึ่งมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนสิ่งมีชีวิตต้นแบบทุกประการ โดยการนำนิวเคลียสของเซลล์ร่างกาย ใส่เข้าไปในเซลล์ไข่ที่ดูดเอานิวเคลียสออกไปก่อนแล้ว เซลล์ไข่ที่มีนิวเคลียสของเซลล์ร่างกาย จะพัฒนาไปเป็นสิ่งมีชีวิตตัวใหม่ โดยใช้ข้อมูลในสารพันธุกรรมจากนิวเคลียสของเซลล์ร่างกาย ทำให้สิ่งมีชีวิตตัวใหม่ มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกับสิ่งมีชีวิตต้นแบบทุกประการ สัตว์ตัวแรกที่เกิดจากวิธีการโคลนคือ แกะตัวเมียที่ชื่อดอลลี่ (Dolly)

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นวิธีการโคลนอย่างหนึ่ง ทำโดยการนำส่วนใดส่วนหนึ่งของพืช เช่น ยอด ใบ ก้าน ดอก มาเลี้ยงในอาหารสังเคราะห์ ซึ่งประกอบด้วยธาตุอาหาร และฮอร์โมนที่เหมาะสมกับพืชชนิดนั้นๆ ในสภาพปลอดเชื้อ และมีการควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เช่น อุณหภูมิ ความชื้น แสงสว่าง ปัจจุบันมีการนำวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ มาใช้ในการขยายพันธุ์พืชเศรษฐกิจและพืชหายาก เช่น กล้วยไม้

 

ภาพ : shutterstock.com

       2.3) การเพาะเลี้ยงเซลล์และเนื้อเยื่อ เป็นการนำเซลล์ 2 ชนิด ที่มีคุณสมบัติต่างกันมารวมกันเป็นเซลล์เดียว และมีสมบัติเหล่านั้นอยู่ในเซลล์เดียวกัน 

       2.4) ลายพิมพ์ DNA เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละบุคคล ซึ่งถูกถ่ายทอดจากเซลล์พันธุกรรมของพ่อและแม่ ลายพิมพ์ DNA ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และไม่มีใครมีลายพิมพ์ DNA เหมือนกัน ยกเว้นแฝดร่วมไข่เท่านั้น DNA จากทุกเซลล์ในร่างกายจะเหมือนกันหมด การตรวจจากเนื้อเยื่อส่วนใดๆ ในร่างกายจึงได้ลายพิมพ์ DNA ซึ่งให้ผลเหมือนกัน

ภาพ : shutterstock.com

 

การตรวจลายพิมพ์ DNA เป็นการตรวจเทียบลำดับเบสของ DNA ที่ตำแหน่งต่างๆ ซ้ำ โอกาสที่แต่ละบุคคลจะมีลำดับเบสของ DNA ตรงกันในทุกตำแหน่งที่ตรวจนั้นจะไม่มีเลย การตรวจ DNA จึงใช้เป็นเครื่องมือพิสูจน์ผู้ต้องสงสัย หรือหาความสัมพันธ์ทางสายเลือด โดยใช้ลายพิมพ์ DNA เป็นหลักฐานยืนยัน

 

เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร