การปรับปรุงพันธุ์พืช และการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ เป็นการพัฒนาคุณภาพของสิ่งมีชีวิตให้ตรงตามความต้องการของมนุษย์ โดยมีการพัฒนาและปรับปรุงในหลายสิ่งมีชีวิต เช่น การปรับปรุงพันธุ์ปลาทับทิม การปรับปรุงพันธุ์ข้าว เป็นต้น
การปรับปรุงพันธุ์ปลาทับทิม
กรมประมงได้พัฒนาปลานิลสีแดงขึ้นมา จนประสบความสำเร็จในการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ เป็นปลานิลแดงทนเค็มสายพันธุ์ปทุมธานี หรือปลาทับทิม โดยผสมข้ามพันธุ์ระหว่าง ปลานิลแดง 4 สายพันธุ์ได้แก่ ปลานิลแดงสายพันธุ์ไทย ปลานิลแดงสายพันธุ์ไต้หวัน ปลานิลแดงสายพันธุ์สเตอริง และปลานิลแดงสายพันธุ์มาเลเซีย จนได้ลูกพันธุ์ผสม 16 กลุ่ม
จากนั้นนำปลาพันธุ์ผสมดังกล่าวไปคัดพันธุ์ จนได้ลักษณะประจำพันธุ์ที่ดี ได้แก่ ลำตัวกว้าง สันหนา สีชมพูออกไปทางสีส้ม เจริญเติบโตเร็ว ให้ผลผลิตสูง มีปริมาณเนื้อแล่สูง เหมาะสมต่อการเลี้ยงในกระชัง ทั้งในแหล่งน้ำจืด ในเขตน้ำกร่อย และบ่อกุ้ง ซึ่งผลผลิตสามารถใช้ทดแทนปลากะพงแดงได้ เนื่องจากเนื้อมีรสชาติดี ไม่มีกลิ่นสาบโคลน จึงน่าจะเป็นที่นิยมของผู้บริโภค
จากนั้น กรมประมงได้กระจายพันธุ์ปลาทับทิมไปสู่ภาครัฐ และเอกชน เพื่อใช้ในการเพาะเลี้ยงเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรนำไปเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ต่อไป
การปรับปรุงพันธุ์ข้าว
ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เป็นข้าวเจ้าที่สามารถปลูกได้ทุกภาค ใช้ระยะเวลาปลูก 160 วัน มีความทนทานต่อความแล้ง ทนทานต่อดินเค็มและดินเปรี้ยว ต่อมาได้มีการปรับปรุงพันธุ์โดยใช้รังสีแกมมา ชักนำให้เกิดมิวเทชันเกิดเป็นพันธุ์ กข 6 กข 10 และ กข 15 ข้าวพันธุ์ใหม่มีลักษณะต่างๆ ดีขึ้นกว่าเดิมดังนี้
- ข้าวพันธุ์ กข 6 เป็นข้าวเหนียวที่มีกลิ่นหอม เมล็ดมีรูปร่างเรียว ให้ผลผลิตสูง และทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี มีความต้านทานโรคไหม้ และโรคใบจุดสีน้ำตาล
- ข้าวพันธุ์ กข 10 เป็นข้าวเหนียวที่ไม่ไวต่อแสง ปลูกได้ทั้งนาปีและนาปรัง เมล็ดเรียวยาว ไม่ร่วงง่าย มีความต้านทานโรคไหม้ปานกลาง และให้ผลผลิตสูง
- ข้าวพันธุ์ กข 15 เป็นข้าวเจ้าที่ให้ผลผลิตเท่ากับพันธุ์ข้าวดอกมะลิ 105 แต่มีอายุสั้นกว่าประมาณ 10 วัน ใช้ระยะเวลาในการปลูก 150 วัน เหมาะสมกับการปลูกในที่นาที่อาศัยน้ำฝน หรือท้องถิ่นที่ฝนตกเร็วกกว่าปกติ สามารถทนต่อการหักล้มได้ดี และมีความต้านทานโรคใบจุดสีน้ำตาลมากกว่าข้าวขาวดอกมะลิ 105
เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร