ลักษณะทางพันธุกรรม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 35.3K views



สิ่งมีชีวิตที่อยู่รอบตัวเรา มีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างมากมาย นับเป็นความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต เช่น สุนัข นก ปลา เป็นต้น แต่สิ่งมีชีวิตแต่ละกลุ่มจะมีลักษณะร่วมกันบางประการ ที่ทำให้เราสามารถแยกกลุ่มสิ่งมีชีวิตได้ และลักษณะนั้นจะปรากฏเป็นเอกลักษณ์จำเพาะของแต่ละกลุ่มเสมอ แสดงว่าลักษณะเหล่านี้ จะต้องสามารถถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ลักษณะที่สามารถถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้ เรียกว่า ลักษณะทางพันธุกรรม ซึ่งมีแบบแปรผันต่อเนื่อง และ แปรผันไม่ต่อเนื่อง

ภาพ : shutterstock.com

 

ลักษณะทางพันธุกรรม แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

1. ลักษณะทางพันธุกรรมที่มีความแปรผันต่อเนื่อง เป็นลักษณะทางพันธุกรรมที่มีความลดหลั่นกันทีละน้อย โดยสิ่งแวดล้อมอาจมีผลต่อลักษณะดังกล่าว เช่น ความสูง น้ำหนัก สีผิว ซึ่งถูกควบคุมโดยยีนมากกว่า 1 คู่

2. ลักษณะทางพันธุกรรมที่มีความแปรผันไม่ต่อเนื่อง เช่น หมู่เลือด ลักษณะผิวเผือก ลักษณะติ่งหู การห่อลิ้น ผมหยักศก เป็นต้น ซึ่งถูกควบคุมด้วยยีน 1 คู่

สีของส่วนต่างๆ ของพืช เป็นลักษณะทางพันธุกรรม มีการถ่ายทอดไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานได้ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะในสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด ในขณะที่การทำศัลยกรรมตกแต่งเสริมจมูก การผ่าตัดแปลงเพศ การเสริมทรวงอก การทำตาสองชั้น เป็นลักษณะที่ไม่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปสู่ลูกหลาน เพราะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมของผู้ถูกทำศัลยกรรม

นอกจากพันธุกรรม สิ่งแวดล้อมก็มีผลต่อลักษณะที่ปรากฏของสิ่งมีชีวิต เช่น ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ อาหาร การออกกำลังกาย แสงสว่าง ความชื้น เป็นต้น โดยอุปนิสัยของแต่ละคน เป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการเลี้ยงดูของครอบครัว และสภาพแวดล้อมที่ผู้นั้นอาศัยอยู่ ไม่ใช่ลักษณะทางพันธุกรรม แต่เป็นความรู้สึกนึกคิดและปฏิบัติจนเป็นนิสัย

 

เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร