ระบบภูมิคุ้มกัน เป็นการป้องกันร่างกายในขั้นสุดท้าย หากเชื้อโรคผ่านขั้นการอักเสบมาแล้ว จะมีการกระตุ้น เพื่อให้มีการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันเฉพาะโรค โดยมีอวัยวะและองค์ประกอบอื่นๆ ในร่างกาย ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เม็ดเลือดขาวชนิดฟาโกไซต์ (phagocytes) เซลล์พลาสมา (plasma cell) เซลล์ที (T-cell) เซลล์บี (B-cell) แอนติเจน (antigen) แอนติบอดี (antibody) เป็นต้น
เชื้อโรคบางชนิดจะมีสารบางชนิดประจำอยู่ที่ผิวเซลล์ เรียกว่า แอนติเจน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสารจำพวกโปรตีน เมื่อเชื้อโรคนี้เข้าสู่ร่างกายคน เซลล์เม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า ฟาโกไซต์ จะเข้าจับกินเชื้อโรคนั้น ทำให้แอนติเจนของเชื้อโรคปรากฏอยู่บนผิวของฟาโกไซต์ และไปกระตุ้นเซลล์เม็ดเลือดขาวกลุ่มลิมโฟไซต์ (lymphocyte) และเซลล์ที ให้จดจำและจำแนกแอนติเจนนี้ แล้วส่งสัญญาณต่อไปยังเซลล์บี ทำให้เซลล์บีมีการแบ่งเซลล์
ส่วนหนึ่งจะพัฒนาเป็น เซลล์เม็ดเลือดขาวอีกชนิด คือ เซลล์พลาสมา ซึ่งจะทำหน้าที่สร้างแอนติบอดี ไปจับกับแอนติเจนบนผิวเซลล์ของเชื้อโรค ทำให้เชื้อโรคนั้นหมดฤทธิ์ และถูกเซลล์เม็ดเลือดขาวจับกินทำลายได้ง่ายขึ้น
เซลล์ที ทำหน้าที่จดจำ วิเคราะห์ และระบุชนิดของเชื้อโรคนั้นๆ ซึ่งในกระแสเลือดที่ไหลเวียนไปทั่วร่างกายนั้น จะมีเซลล์ทีอยู่นับสิบล้านเซลล์
เซลล์บี ทำหน้าที่แบ่งเซลล์ และพัฒนาเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดพลาสมา ซึ่งจะทำหน้าที่สร้างแอนติบอดีขึ้นมา เพื่อเข้ายึดเกาะ ทำลายเชื้อโรค ที่เซลล์ทีส่งสัญญาณมาอย่างเฉาะเจาะจงเท่านั้น
การทำงานร่วมกันของเซลล์ทีและเซลล์บีนั้น ขึ้นอยู่กับการจดจำสารบางชนิดที่อยู่บนผิวเซลล์ของเชื้อโรค ที่เรียกว่า แอนติเจน ซึ่งเซลล์ทีส่งไปกระตุ้นให้เซลล์บีแบ่งเซลล์ และพัฒนาเป็นเซลล์พลาสมาขึ้น เพื่อทำหน้าที่สร้างแอนติบอดีขึ้นมาอย่างเฉพาะเจาะจง เพื่อช่วยทำลายเชื้อโรคนั้น โดยการเข้าไปจับกับแอนติเจนที่มีลักษณะคล้ายๆ กับการต่อภาพปริศนา ที่มีเหลี่ยมมุมโค้งเว้า เข้ากันได้อย่างเหมาะเจาะพอดี
เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร