การรักษาดุลยภาพของอุณหภูมิในร่างกาย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 317.8K views



การรักษาดุลยภาพของอุณหภูมิของสัตว์ต่างๆ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสัตว์เลือดเย็น จะปรับอุณหภูมิภายในร่างกายตามสิ่งแวดล้อม โดยอัตราเมแทบอลิซึมของร่างกายจะแปรผันตามอุณหภูมิสิ่งแวดล้อม ได้แก่ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังต่างๆ ปลา กบ และสัตว์เลื้อยคลาน ส่วนกลุ่มสัตว์เลือดอุ่น จะรักษาอุณหภูมิในร่างกายให้คงที่ ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งแวดล้อมภายนอก อัตราเมแทบอลิซึมจะแปรผกผันกับอุณหภูมิ ได้แก่ สัตว์ปีก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

มนุษย์ใช้สมองส่วนไฮโพทาลามัส (hypothalamus) เป็นศูนย์กลางในการรักษาสมดุลอุณหภูมิ เพื่อควบคุมอุณหภูมิในร่างกายให้คงที่ที่ 37 องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิร่างกายสูงเกินไป เช่น เมื่ออยู่ในสภาพอากาศร้อน หรือเมื่อเราออกกำลังกาย ไฮโพทาลามัสจะส่งสัญญาณไปกระตุ้นหลอดเลือดฝอยที่ผิวหนังให้ขยายตัว เลือดไหลเวียนที่ผิวหนังมากขึ้น ขับเหงื่อเพิ่มขึ้น และลดอัตราเมแทบอลิซึมลง เพื่อทำให้อุณหภูมิในร่างกายของเราลดลง

ภาพ : shutterstock.com

 

เมื่อสภาพแวดล้อมภายนอกมีอุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิร่างกาย ร่างกายมนุษย์จะมีกลไกการรักษาดุลยภาพดังนี้

1. ต่อมเหงื่อหลั่งเหงื่อ
2. เพิ่มการระเหยของเหงื่อ
3. หลอดเลือดที่ผิวหนังขยายตัว
4. เพิ่มการแผ่รังสีความร้อน
5. ลดอัตราเมแทบอลิซึม
6. ขนเอนราบ

ภาพ : shutterstock.com

 

เมื่อสภาพแวดล้อมภายนอกมีอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิร่างกาย ร่างกายมนุษย์จะมีกลไกการรักษาดุลยภาพดังนี้

1. ต่อมเหงื่อไม่หลั่งเหงื่อ
2. ลดการระเหยของเหงื่อ
3. หลอดเลือดที่ผิวหนังหดตัว
4. ลดการแผ่รังสีความร้อน
5. เพิ่มอัตราเมแทบอลิซึมของร่างกาย
6. ขนลุกชัน กล้ามเนื้อโครงร่างหดตัวเร็วขึ้น ทำให้ร่างกายหนาวสั่น

 

เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร