การรักษาดุลยภาพของกรด-เบสในร่างกายคน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 428.6K views



ในร่างกายจะมีการรักษาดุลยภาพกรด-เบส (ค่า pH) ในเลือด และในของเหลวต่างๆ ให้อยู่ในสภาพสมดุล ไม่ให้สูงหรือต่ำจนเกินไป ในสภาวะเป็นกลางจะมีค่า pH=7 โดยมีสารที่ให้หรือรับ H+ และ OH- ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงค่ากรด-เบสในร่างกาย โดยหากในร่างกายมี H+ มากขึ้น หรือ OH- น้อยลง ของเหลวในร่างกายจะเพิ่มความเป็นกรด ในทางตรงกันข้าม หากในร่างกายมี H+ น้อยลง หรือ OH- มากขึ้น ของเหลวในร่างกายจะเพิ่มความเป็นเบส ทั้งนี้ ระบบขับถ่าย ระบบหายใจ ระบบบัฟเฟอร์ จะใช้สมองส่วนเมดัลลาออบลองกาตา (medulla oblongata) และพอนส์ (pons) ในการทำกิจกรรมดังกล่าว

ในขณะที่เราออกกำลังกาย หรือร่างกายทำงานหนัก เลือดจะเป็นกรดมากขึ้น เนื่องจากมีการผลิต CO2 ออกมาจากปฏิกิริยาการหายใจระดับเซลล์ เมื่อ CO2 รวมตัวกับน้ำ จะทำให้เกิดกรดคาร์บอกนิก ซึ่งสามารถแตกตัวให้ H+ ได้ เมื่อเลือดเป็นกรด สมองส่วนเมดัลลาออบลองกาตา และพอนส์ จะส่งสัญญาณไปกระตุ้นกล้ามเนื้อกระบังลม และกล้ามเนื้อยึดซี่โครง ให้ทำงานมากขึ้น ทำให้หายใจเร็วและแรงขึ้น เพื่อขับ CO2 ออกจากร่างกาย 

นอกจากนี้ การออกกำลังกายอย่างหนัก ยังทำให้เซลล์กล้ามเนื้อเกิดปฏิกิริยาสลายสารอาหารแบบไม่ใช้ออกซิเจน ซึ่งจะผลิตกรดแลคติกออกมา ทำให้ในเลือดมีปริมาณกรดแลคติกเพิ่มขึ้น

 

 

กลไกการรักษาสภาพ pH ไม่ให้สูงหรือต่ำเกินไป ในร่างกายมนุษย์จะใช้ 3 ระบบ คือ

1. ระบบขับถ่าย โดยการขับ H+ ทางปัสสาวะ หรือดูดกลับ HCO3- ที่ท่อหน่วยไต สามารถเพิ่มหรือลดความเป็นกรดได้มากที่สุด แต่ใช้เวลานานที่สุด

2. ระบบหายใจ โดยการขับ CO2 ออกทางลมหายใจ เมื่อเลือดเป็นกรดมากเกินไป

3. ระบบบัฟเฟอร์ในเลือด โดยมีสารเคมีในเลือดที่สามารถทำปฏิกิริยากันเพื่อปรับ pH ได้ สามารถเพิ่มหรือลดความเป็นกรดได้เล็กน้อย แต่ใช้เวลาเร็วที่สุด

ภาพ : shutterstock.com

 

 

เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร