ร่างกายของคนมีน้ำเป็นองค์ประกอบเป็นส่วนใหญ่ จึงต้องมีการรักษาดุลยภาพของน้ำและแร่ธาตุในร่างกายคน โดยน้ำที่อยู่ในร่างกายมีทั้งที่อยู่ในเซลล์ และหล่อเลี้ยงอยู่นอกเซลล์ ทำหน้าที่ช่วยปรับอุณหภูมิของร่างกาย ช่วยลำเลียงแก๊สและสารอาหาร รวมทั้งของเสียที่ผ่านเข้าและออกจากเซลล์ น้ำในร่างกายจะมีการหมุนเวียนเข้าและถ่ายเทออกจากร่างกายอยู่ตลอดเวลา อาศัยอวัยวะสำคัญ ได้แก่ ไต และสมองส่วนไฮโพทาลามัส (hypothalamus)
เราควรดื่มน้ำให้พอเพียงอย่างน้อย วันละ 2.4 ลิตร เพื่อทดแทนน้ำที่เสียไปในการขับถ่ายของเหลว การสูญเสียน้ำจะขึ้นกับอุณหภูมิและความชื้นในอากาศด้วย เช่น ในวันที่อากาศร้อน จะมีเหงื่อออกมาก ซึ่งเหงื่อ หรือน้ำที่ออกมาทางผิวหนังนั้น จะพาเกลือแร่ออกมาด้วย ร่างกายจึงต้องรักษาดุลยภาพของน้ำ และเกลือแร่ให้เหมาะสม โดยการควบคุมปริมาณน้ำที่รับเข้า และขับออกจากร่างกาย
ไตมีหน้าที่ปรับสมดุลของน้ำ และแร่ธาตุในร่างกายคน โดยไตจะทำหน้าที่กรองของเสีย และสารแปลกปลอมออกจากกระแสเลือด แล้วขับออกทิ้งในรูปของน้ำปัสสาวะ ในขณะเดียวกันไตจะควบคุมน้ำและเกลือแร่ต่างๆ ในร่างกายให้คงที่ไปพร้อมกัน นอกจากนี้ ไตยังทำหน้าที่ขับของเสียที่เกิดจากกระบวนการเมแทบอลิซึมของสารอาหาร รวมทั้งขับสารแปลกปลอมที่รับเข้าสู่ร่างกาย เช่น สารคาเฟอีน สารนิโคติน และแอลกอฮอล์ เป็นต้น
การทำงานของไตจะถูกควบคุมโดยสมองส่วนไฮโพทาลามัส ซึ่งสมองส่วนนี้ จะควบคุมสมดุลของปริมาณน้ำและเกลือแร่ในเลือด หากเลือดขาดน้ำจะทำให้เลือดมีความเข้มข้นผิดปกติ และส่งผลกระทบต่ออวัยวะและทุกระบบในร่างกาย
การควบคุมความสมดุลของปริมาณน้ำในเลือด โดยสมองส่วนไฮโพทาลามัส จะถูกกระตุ้นโดยภาวะการขาดน้ำ หรือมีน้ำในเลือดน้อยเกินไป ในภาวะที่ร่างกายขาดน้ำ เลือดจะมีความเข้มข้นมากกว่าปกติ ความดันเลือดจะต่ำ จึงรู้สึกกระหายน้ำ
อาการขาดน้ำนี้ จะส่งผลให้เกิดกระแสประสาทจากสมองส่วนไฮโพทาลามัส ไปกระตุ้นปลายประสาทในต่อมใต้สมอง ให้หลั่งฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือดส่งไปที่ไต เพื่อกระตุ้นท่อหน่วยไต ให้ดูดน้ำกลับเข้าสู่หลอดเลือด หรือถ้าดื่มน้ำเข้าไป ก็จะทำให้ปริมาณน้ำในเลือดสูง ทำให้เลือดเจือจาง ความดันเลือดจะสูงขึ้น ก็จะย้อนกลับไปสู่ไฮโพทาลามัส ไปยับยั้งการสร้างฮอร์โมน ทำให้การดูดน้ำกลับคืนของท่อหน่วยไตลดลง ปริมาณน้ำในร่างกายก็จะอยู่ในภาวะสมดุล เป็นการทำงานประสานกันระหว่างไฮโพทาลามัส ต่อมใต้สมอง และไต
เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร