การคายน้ำของพืช เป็นวิธีการรักษาสมดุลของน้ำในพืช โดยพืชจะคายน้ำออกทางปากใบที่อยู่ใต้ท้องใบ เพื่อลดอุณหภูมิและรักษาดุลยภาพน้ำ หากดินแห้งเกินไป พืชจะผลิตกรดแอบไซซิก ซึ่งเป็นฮอร์โมนพืชที่กระตุ้นให้ปากใบปิด ไม่ให้เกิดการคายน้ำออกมากเกินไป อีกทั้งพืชยังทิ้งใบเพื่อลดการคายน้ำในช่วงฤดูแล้งด้วย
นอกจากนี้ พืชยังสามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่มีปริมาณน้ำแตกต่างกันได้ เช่น
- กระบองเพชร จะเปลี่ยนรูปใบเป็นหนามเพื่อลดการคายน้ำ
- พืชในบริเวณแห้งแล้ง จะมีจำนวนปากใบต่อพื้นที่น้อยลง และปากใบจะจมลึกเข้าไปในเนื้อเยื่อใบ เพื่อให้คายน้ำออกได้น้อยลง
- พืชที่ใบปริ่มน้ำ เช่น บัว จะมีปากใบอยู่ที่ผิวใบด้านบนแทน (ด้านหลังใบ)
- พืชที่ใบจมอยู่ใต้น้ำ เช่น สาหร่ายหางกระรอก จะไม่มีปากใบ
กลไกการปิด-เปิดปากใบ
เซลล์ที่ปกคลุมอยู่ที่ผิวใบนั้นมี 2 ชนิด คือ เซลล์คุม ซึ่งมีคลอโรพลาสต์ และเซลล์ผิวใบอื่นๆ ซึ่งไม่มีคลอโรพลาสต์ การควบคุมการปิด-เปิดปากใบนั้น ขึ้นอยู่กับความเต่งของเซลล์คุม ที่ประกบอยู่ข้างๆ รูปากใบ หากเซลล์คุมเต่ง จะทำให้ปากใบซึ่งเป็นรูตรงกลางระหว่างเซลล์คุมเปิดออก ซึ่งปากใบจะเปิดในสภาวะที่มีแสง
ในตอนกลางวัน เมื่อปากใบเปิด พืชจะคายน้ำออกทางปากใบ แล้วทำให้ในท่อลำเลียงน้ำ บริเวณส่วนยอดพืชเสมือนเป็นสุญญากาศ จึงเกิดแรงดูดโมเลกุลน้ำที่อยู่ด้านล่างให้ขึ้นมาตามท่อลำเลียงน้ำ เรียกว่า แรงดึงจากการคายน้ำ
สำหรับในตอนกลางคืน ปากใบจะปิดเพราะไม่มีแสง ทำให้ไม่มีแรงดึงจากคายคายน้ำ พืชจึงอาศัยแรงดันราก ดันโมเลกุลน้ำจากด้านล่างให้ขึ้นมาตามท่อลำเลียงน้ำ แรงดันรากนี้ยังช่วยบีบอัดฟองอากาศที่ตกค้างในท่อลำเลียงน้ำให้เล็กลง แล้วทำให้สายน้ำในท่อเชื่อมต่อกัน และยังทำให้พืชสามารถคายน้ำออกมาเป็นหยดน้ำได้ในช่วงกลางคืน
เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร