การแยกแก๊สธรรมชาติและผลิตภัณฑ์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 47.6K views



แก๊สธรรมชาติเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง ประเทศไทยสำรวจพบแหล่งแก๊สธรรมชาติในบริเวณอ่าวไทย โดยพบว่ามีปริมาณมากพอในเชิงพาณิชย์ นอกจากนั้นยังพบแหล่งแก๊สบนแผ่นดินที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น โดยต้องผ่านกระบวนการแยกแก๊สธรรมชาติก่อนนำไปใช้ประโยชน์

แก๊สธรรมชาติส่วนใหญ่ประกอบด้วย แก๊สไฮโดรคาร์บอน นอกจากนั้นเป็น ไอปรอท แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ แก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์ ไนโตรเจน และไอน้ำ

การนำแก๊สธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ต้องขุดเจาะ และนำขึ้นมาจากใต้พื้นดิน ซึ่งมีทั้งสารที่เป็นของเหลวและแก๊สผสมกัน โดยมีกระบวนการแยกดังนี้

ภาพ : shutterstock.com

ขั้นตอนการแยกสารประกอบที่ไม่ใช่สารประกอบไฮโดรคาร์บอน มีดังนี้

1. กำจัดปรอท เพื่อป้องกันการผุกร่อนของท่อจากการรวมตัวกับปรอท

2. กำจัดแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) เนื่องจากมีพิษและกัดกร่อน กำจัดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพราะทำให้เกิดการอุดตันของท่อ โดยใช้โพแทสเซียมคาร์บอเนต (K2CO3) ผสมตัวเร่งปฏิกิริยา ส่วนคาร์บอนไดออกไซด์ที่แยกออกมาได้ สามารถนำไปทำน้ำแข็งแห้ง น้ำยาดับเพลิง และฝนเทียม

3. กำจัดความชื้น เพื่อป้องกันการอุดตันจากน้ำแข็ง โดยการกรองผ่านสารที่มีรูพรุนและสามารถดูดซับน้ำออกจากแก๊สได้ เช่น ซิลิกาเจล

ขั้นตอนการแยกแก๊สไฮโดรคาร์บอน ทำได้โดยลดอุณหภูมิของแก๊สให้เป็นของเหลว แล้วส่งต่อไปยังหอกลั่น เพื่อกลั่นแยกปิโตรเลียมเหลว (C3-C4) และแก๊สโซลีนธรรมชาติหรือแก๊สธรรมชาติเหลว (C5 ขึ้นไป)

 

เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร