ปิโตรเลียม มีรากศัพท์จากภาษาละตินคือ Petra (เพทรา) แปลว่า หิน กับ Oleum (โอลิอุม) แปลว่า น้ำมัน ปิโตรเลียมจึงมีความหมายว่า น้ำมันที่ได้จากหิน โดยปิโตรเลียมแบ่งออกเป็นน้ำมันดิบ และแก๊สธรรมชาติ การสำรวจปิโตรเลียมเพื่อนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ มีขั้นตอนที่สำคัญดังนี้คือ วิธีทางธรณีวิทยา วิธีทางธรณีฟิสิกส์ และขั้นเจาะสำรวจ
ปิโตรเลียมเป็นสารผสมของสารประกอบไฮโดรคาร์บอน กับสารอินทรีย์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ได้แก่ น้ำมันดิบ แก๊สธรรมชาติ แก๊สธรรมชาติเหลว
ปิโตรเลียมเกิดจากการทับถม และสลายตัวของอินทรียสารจากพืชและสัตว์ ซึ่งคลุกเคล้ากับตะกอน และโคลนตมเป็นเวลานับล้านปี ตะกอนเหล่านี้ ถูกอัดทับแน่นด้วยความดัน และความร้อนสูงในบริเวณที่มีปริมาณออกซิเจนจำกัด เกิดการสลายตัวเป็นน้ำมันดิบ และแก๊สธรรมชาติ แทรกอยู่ในรูพรุนของชั้นหิน และเคลื่อนตัวจากหินกำเนิดไปยังแหล่งกักเก็บปิโตรเลียม
ภายในแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมชั้นบนสุด จะเป็นแก๊สธรรมชาติที่มีความหนาแน่นน้อย ถัดลงไปจะเป็นชั้นของน้ำมันดิบ ส่วนชั้นล่างสุดเป็นส่วนของน้ำ
การสำรวจแหล่งปิโตรเลียมทำได้โดย
1. วิธีทางธรณีวิทยา ทำแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม ภาพถ่ายทางอากาศ รายงานทางธรณีวิทยาเพื่อเป็นข้อมูลในการสำรวจธรณีวิทยาพื้นผิว โดยการเก็บและวิเคราะห์หิน เพื่อคาดคะเนโอกาสที่จะพบโครงสร้าง และชนิดของหินที่เอื้ออำนวยต่อการกักเก็บปิโตรเลียม
2. วิธีทางธรณีฟิสิกส์ ช่วยในการวัดค่าความเข้มของสนามแม่เหล็กโลก ซึ่งบอกให้ทราบถึงขอบเขต ความกว้างใหญ่ของแอ่ง และความลึกของชั้นหิน ช่วยในการตรวจวัดค่าความโน้มถ่วงของโลก สำหรับกำหนดขอบเขตและรูปร่างของแอ่งใต้ผิวดิน รวมถึงช่วยในการสำรวจด้วยการวัดคลื่นไหวสะเทือน (seismic wave) เพื่อบอกให้ทราบตำแหน่ง รูปร่างลักษณะ และโครงสร้างของชั้นหินใต้ดิน
3. ขั้นเจาะสำรวจ การเจาะสำรวจจะบอกความยากง่ายของการขุดเจาะ ปริมาณน้ำมันดิบ และแก๊สธรรมชาติ ข้อมูลจากการเจาะสำรวจจะนำมาใช้ในการตัดสินใจถึงความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐกิจ โดยถ้าหลุมที่เจาะสำรวจมีความดันภายในสูง ปิโตรเลียมจะถูกดันให้ไหลออกมาเอง แต่ถ้าหลุมที่เจาะสำรวจมีความดันภายในต่ำ จะต้องเพิ่มแรงดันภายนอก โดยการอัดแก๊สบางชนิดลงไป เช่น แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ แก๊สธรรมชาติ เพื่อดันให้ปิโตรเลียมไหลขึ้นมา
เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร