คาร์โบไฮเดรตมีธาตุที่เป็นองค์ประกอบหลัก คือ คาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน แบ่งโครงสร้างตามจำนวนย่อยที่เป็นองค์ประกอบได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ (1) มอโนแซ็กคาไรด์ หรือน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว เช่น กลูโคส ฟรักโทส กาแล็กโทส (2)ไดแซ็กคาไรด์ หรือน้ำตาลโมเลกุลคู่ เช่น มอลโทส ซูโครส แล็กโทส และ (3) พอลิแซ็กคาไรด์ เช่น แป้งประเภทต่าง ๆ ซึ่งการทดสอบแป้ง และการทดสอบน้ำตาลมีหลายวิธี เช่น การใช้สารละลายเบเนดิกต์ หรือทดสอบด้วยสารละลายไบยูเร็ต
1. น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (Monosaccharide)
เป็นคาร์โบไฮเดรตโมเลกุลเล็ก ประกอบด้วยคาร์บอน 3-8 อะตอม
แบ่งประเภทที่พบมากในธรรมชาติได้แก่ เพนโทส (C 5 อะตอม) เช่น ไรโบส ไรบูโรส และเฮกโซส (C 6 อะตอม) เช่น กลูโคส ฟรักโทส กาแล็กโทส สูตรทั่วไปของมอโนแซ็กคาไรด์ คือ CnH2nOn
แบ่งประเภทตามหมู่ฟังก์ชัน ได้แก่ หมู่แอลโดส คือ มีหมู่คาร์บอกซาลดีไฮด์เป็นหมู่ฟังก์ชัน ได้แก่ ไรโบส กลูโคส กาแล็กโทส และหมู่คีโตส คือ มีหมู่คาร์บอนิลเป็นหมู่ฟังก์ชัน ได้แก่ ไรบูโรส และฟรักโทส
ในการทดสอบน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว เนื่องจากมอโนแซ็กคาไรด์ในโครงสร้างแบบโซ่เปิด มีสมบัติเป็นตัวรีดิวซ์ สามารถรีดิวซ์คอปเปอร์ (II) ไอออนในสารละลายเบเนดิกต์ เกิดเป็นคอปเปอร์ (I) ออกไซด์ ซึ่งเป็นตะกอนสีแดงอิฐ จึงสามารถทดสอบได้ด้วยสารละลายเบเนดิกต์
ตัวอย่างน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวที่พบในธรรมชาติ ได้แก่
- กลูโคสที่พบในพืช เช่น อ้อย องุ่น น้ำผึ้ง และเป็นองค์ประกอบของพอลิแซ็กคาไรด์หลายชนิด
- ฟรักโทสซึ่งเป็นมอโนแซ็กคาไรด์ที่หวานที่สุด พบในผลไม้ น้ำผึ้ง
- กาแล็กโทสที่เป็นองค์ประกอบของน้ำตาลในน้ำนม
2. น้ำตาลโมเลกุลคู่ (Disaccharide)
เกิดจากการรวมตัวของน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว 2 โมเลกุล โดยมีพันธะไกลโคซิดิก (glycosidic bond) เชื่อมต่อระหว่างน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวทั้ง 2 โมเลกุล เช่น
- มอลโทส เกิดจาก กลูโคส + กลูโคส
- ซูโครส เกิดจาก กลูโคส + ฟรักโทส
- แล็กโทส เกิดจาก กลูโคส + กาแล็กโทส
แล็กโทสสามารถรีดิวซ์คอปเปอร์ (II) ไอออน แต่ซูโครสไม่สามารถรีดิวซ์ได้ เพราะเมื่อซูโครสละลายน้ำจะไม่สามาถเกิดโครงสร้างแบบโซ่เปิดได้ ยกเว้นใช้กรดเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา
3. พอลิแซ็กคาไรด์ (Polysaccharide)
เป็นคาร์โบไฮเดรตโมเลกุลใหญ่ มีโครงสร้างซับซ้อน ประกอบด้วยมอโนแซ็กคาไรด์หลายๆ โมเลกุลเชื่อมต่อกัน ได้แก่ แป้ง เซลลูโลส ไกลโคเจน ไคติน
การทดสอบแป้ง ใช้สารละลายไอโอดีน จะได้ตะกอนสีน้ำเงิน และจะไม่ให้ผลการทดสอบต่อสารละลายเบเนดิกต์ ยกเว้นถ้านำไปต้มกับกรด จะเกิดการไฮโดรไลซ์ได้มอโนแซ็กคาไรด์ ซึ่งสามารถทดสอบด้วยสารละลายเบเนดิกต์ได้ ตัวอย่างพอลิแซ็กคาไรด์ประเภทต่างๆ มีดังนี้
- แป้ง ประกอบด้วยพอลิแซ็กคาไรด์ 2 ชนิด คือ อะไมโลส ซึ่งเป็นพอลิแซ็กคาไรด์แบบโซ่ตรง กับอะไมโลเพกทิน ซึ่งเป็นพอลิแซ็กคาไรด์แบบโซ่กิ่ง
- แป้ง สำลี ไกลโคเจน เป็นพอลิแซ็กคาไรด์ที่มีโครงสร้างโมเลกุลต่างกัน จึงมีสมบัติต่างกัน
- เซลลูโลส ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างพืช เมื่อไฮโดรไลซ์จะได้กลูโคสเป็นผลิตภัณฑ์
- ไกลโคเจน เป็นคาร์โบไฮเดรตที่สะสมอยู่ในเซลล์ของสัตว์ พบมากในตับ และกล้ามเนื้อ มีมวลโมเลกุล และมีโซ่กิ่งมากกว่าอะไมโลเพกทินของแป้ง
เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร