ปัจจัยที่มีผลต่ออัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมีมีหลายปัจจัย ได้แก่ ธรรมชาติของสาร ความเข้มข้นของสาร พื้นที่ผิว อุณหภูมิ ตัวเร่งปฏิกิริยา และตัวหน่วงปฏิกิริยา
1. ธรรมชาติของสารตั้งต้น
สารแต่ละชนิดเกิดปฏิกิริยาเคมีได้ด้วยอัตราเร็วที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ชนิดของสารตั้งต้นมีผลต่ออัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี กล่าวคือ ปฏิกิริยาจะเกิดเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับธรรมชาติของสาร เช่น
- สารที่ทำปฏิกิริยาเป็นสารไอออนิกทั้งคู่ จะเกิดปฏิกิริยาเร็วกว่าสารที่เป็นสารโคเวเลนต์
- สารที่ทำปฏิกิริยาเป็นแก๊สทั้งคู่ จะทำปฏิกิริยาได้เร็วกว่าปฏิกิริยาที่สารอยู่ในสถานะที่ต่างกัน
2. ความเข้มข้นของสารตั้งต้น
ความเข้มข้นของสารตั้งต้นจะมีผลต่ออัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี เราวัดปริมาณของสารในสารละลายได้ จากความเข้มข้นของสารที่เข้าทำปฏิกิริยากัน ดังนั้น ในระหว่างเกิดปฏิกิริยาความเข้มข้นของสาร จึงเป็นสิ่งสำคัญที่มีผลให้ปฏิกิริยาเกิดเร็วหรือช้า โดยสามารถทราบได้ว่า สารตัวใดมีผลต่ออัตราการเกิดปฏิกิริยาจากข้อมูลของผลการทดลอง
3. พื้นที่ผิวของสาร
ปฏิกิริยาที่มีสารตั้งต้นเป็นของแข็ง สามารถทำให้อัตราการเกิดปฏิกิริยาเปลี่ยนแปลงได้ โดยทำให้ของแข็งปริมาณเท่าเดิมมีขนาดเล็กลง เมื่อพื้นที่ผิวของของแข็งเพิ่มขึ้น ทำให้สารตั้งต้นสัมผัสกันได้มากขึ้น และช่วยให้ปฏิกิริยาเกิดเร็วขึ้น
หลักการนี้นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น นักโภชนาการแนะนำให้เคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืนลงท้อง เป็นการเพิ่มพื้นที่ผิว เพื่อให้กรดและเอนไซม์ในน้ำย่อยย่อยอาหารได้เร็วขึ้น ป้องกันการจุกเสียด แน่นท้อง และท้องอืดท้องเฟ้อได้
4. อุณหภูมิ
ปฏิกิริยาเคมีหลายปฏิกิริยาไม่สามารถเกิดขึ้นได้ที่อุณหภูมิห้อง แสดงว่าอุณหภูมิมีผลต่ออัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี คือ เมื่อเพิ่มอุณหภูมิสูงขึ้น ปฏิกิริยาเคมีจะเกิดเร็วขึ้น และเมื่อลดอุณหภูมิ ปฏิกิริยาจะเกิดช้าลง
ในชีวิตประจำวัน เราสามารถนำการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่มีผลต่ออัตราการเกิดปฏิกิริยาไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น การเก็บผลไม้ที่แก่จัดมาเรียงไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด คลุมด้วยผ้า หรือกระดาษทิ้งไว้ 3-5 วัน ผลไม้จะสุกเร็วกว่าการวางไว้นอกภาชนะ เพราะเอนไซม์ในผลไม้ทำงานได้เร็วกว่า สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่ต้องการให้เกิดช้า ทำได้โดยการลดอุณหภูมิ เช่น การเก็บรักษาผลไม้ หรืออาหารในตู้เย็น เพื่อลดการทำงานของเอนไซม์หรือแบคทีเรีย
5. ตัวเร่งปฏิกิริยาหรือตัวหน่วงปฏิกิริยา
สารเคมีที่เติมลงไปแล้วทำให้ปฏิกิริยาเกิดเร็วขึ้น เรียกว่า ตัวเร่งปฏิกิริยา (catalyst) ส่วนสารที่เติมแล้วทำให้ปฏิกิริยาเกิดช้าลง เรียกว่า ตัวหน่วงปฏิกิริยา (inhibitor) เมื่อสิ้นสุดปฏิกิริยาแล้ว ตัวเร่งหรือตัวหน่วงปฏิกิริยาจะได้กลับคืนมาในขนาด และปริมาณเดิม
เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร