ปฏิกิริยาเคมีในชีวิตประจำวันและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 182.8K views



ในชีวิตประจำวันมีปฏิกิริยาเคมีเกิดขึ้นมากมาย บางปฏิกิริยานำมาใช้ประโยชน์ได้ แต่อาจให้โทษ และมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยสามารถยกตัวอย่างปฏิกิริยาเคมีในชีวิตประจำวันได้ดังนี้ ปฏิกิริยาการสังเคราะห์ด้วยแสง ปฏิกิริยาการสลายตัวของสารเคมี ปฏิกิริยาการเผาไหม้เชื้อเพลิง ปฏิกิริยาการเกิดสนิมของโลหะ ปฏิกิริยาการเกิดฝนกรด เป็นต้น

1. ปฏิกิริยาการสังเคราะห์ด้วยแสง

พืชสร้างอาหารโดยกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง โดยมีคลอโรฟิลล์และแสงช่วยให้น้ำเกิดปฏิกิริยากับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ได้กลูโคสและแก๊สออกซิเจน ปฏิกิริยาการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช ช่วยลดปริมาณ CO2 ในอากาศ และลดโลกร้อน เกิดแก๊สที่มีประโยชน์ในการหายใจของสิ่งมีชีวิต คือ แก๊สออกซิเจน

2. ปฏิกิริยาการสลายตัวของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์

ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์มีประโยชน์ในการฟอกสีเส้นผม ฟอกสีอาหาร ทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรค โดยปกติไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์สลายตัวได้เองอย่างช้าๆ เกิดเป็นแก๊สออกซิเจนและน้ำ แต่ถ้าได้รับแสงสว่าง และความร้อน จะช่วยให้การสลายตัวเกิดเร็วขึ้นได้

ภาพ :shutterstock.com

 

3. ปฏิกิริยาการสลายตัวของโซเดียมไฮโดรเจนคาร์บอเนตหรือผงฟู

เมื่อนำขนมที่มีส่วนผสมของผงฟูไปนึ่งหรืออบ ความร้อนจะทำให้ NaHCO3 สลายตัวให้แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 ซึ่งสามารถขยายตัวดันและแทรกผ่านเนื้อขนม ทำให้เกิดโพรงอากาศกระจายทั่วทั้งก้อนขนม

การสลายตัวของโซเดียมไฮโดรเจนคาร์บอเนต นำไปใช้ประโยชน์ในการดับไฟป่าได้ โดยโปรยผงโซเดียมไฮโดรเจนคาร์บอเนตจากเครื่องบินลงบริเวณเหนือไฟป่า จะเกิดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นในปริมาณมาก ซึ่งคาร์บอนไดออกไซด์หนักกว่าอากาศ จึงลอยตัวในระดับต่ำ ปกคลุมพื้นที่ที่เกิดเพลิงไหม้ ทำให้ออกซิเจนเข้าไม่ถึง จึงช่วยบรรเทาหรือหยุดการเผาไหม้ได้ในระดับหนึ่ง

 

4. ปฏิกิริยาการเผาไหม้เชื้อเพลิง

สารประกอบไฮโดรคาร์บอน หรือเชื้อเพลิงที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น แก๊สหุงต้ม น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันก๊าด เมื่อติดไฟและเผาไหม้สมบูรณ์ จะให้ผลิตภัณฑ์เป็นแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ และไอน้ำ พร้อมทั้งพลังงานความร้อนที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมต่างๆ ถ้าในบรรยากาศมีคาร์บอนไดออกไซด์สะสมในปริมาณมาก จะมีผลทำให้เกิดภาวะโลกร้อน แต่ถ้าเชื้อเพลิงนั้นเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ จะเกิดเขม่าควัน และคาร์บอนมอนอกไซด์ และไอน้ำ

ภาพ : shutterstock.com

5. ปฏิกิริยาการเกิดสนิมของโลหะ

 

เหล็กเป็นโลหะที่นำมาใช้งานหลายด้านในชีวิตประจำวัน เมื่ออายุการใช้งานเพิ่มขึ้น เหล็กมักเกิดการผุกร่อนและเป็นสนิม เนื่องจากเหล็กทำปฏิกิริยากับแก๊สออกซิเจน และความชื้นในอากาศ วิธีการป้องกันการเกิดสนิมเหล็ก ทำได้โดยการป้องกันไม่ให้เหล็กสัมผัสกับแก๊สออกซิเจน และความชื้น เช่น การทาด้วยน้ำมัน ฉาบด้วยดีบุก ทาสี เป็นต้น

ภาพ : shutterstock.com

 

6. ปฏิกิริยาการเกิดฝนกรด

ฝนกรดเกิดจากน้ำฝนทำปฏิกิริยากับแก๊สที่มีสมบัติเป็นกรด เช่น แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ แก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ แก๊สไนโตรเจนไดออกไซด์ และแก๊สไนโตรเจนมอนอกไซด์

ฝนกรดจะทำให้สิ่งปลูกสร้างที่เป็นหินปูนสึกกร่อน และกัดกร่อนโลหะ อีกทั้งยังเป็นอันตรายต่อมนุษย์ ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยเรื้อรัง โลหิตจาง เป็นอันตรายต่อปอด และระบบทางเดินหายใจ ทำให้พืชปรุงอาหารโดยการสังเคราะห์ด้วยแสงไม่ได้ เนื่องจากฝนกรดจะฟอกจางสีของใบพืชสีเขียว

 

เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร