การเปลี่ยนแปลงของสาร คือการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ลักษณะของสารเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หรือมีสารใหม่เกิดขึ้น แบ่งออกเป็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ และการเปลี่ยนแปลงทางเคมี
1. การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ (physical change)
เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ลักษณะของสารเปลี่ยน แต่องค์ประกอบของสารยังคงเดิม นั่นคือ สารที่เปลี่ยนแปลงนั้น ยังคงเป็นสารเดิมไม่ได้เปลี่ยนเป็นสารใหม่ และการเปลี่ยนแปลงนี้ สามารถเปลี่ยนกลับสภาพเดิมได้โดยวิธีง่ายๆ เช่น น้ำเปลี่ยนสถานะจากของเหลวกลายเป็นไอน้ำ หรือกลายเป็นน้ำแข็ง องค์ประกอบก็ยังเป็น H2O การทิ้งลูกเหม็นไว้ในอากาศ ลูกเหม็นจะระเหิดและมีขนาดเล็กลง การใส่น้ำตาลลงในน้ำ น้ำตาลจะละลาย เป็นต้น
2. การเปลี่ยนแปลงทางเคมี (chemical change)
เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีสารใหม่เกิดขึ้น ซึ่งสารใหม่จะมีสมบัติต่างไปจากสารเดิม และการทำสารใหม่ให้กลับไปเป็นสารเดิมทำได้ยาก เช่น การเผาแก๊สไฮโดรเจนในอากาศ แก๊สไฮโดรเจนจะทำปฏิกิริยากับแก๊สออกซิเจนเกิดเป็นน้ำ ซึ่งมีสมบัติต่างจากแก๊สไฮโดรเจนและแก๊สออกซิเจน และเมื่อต้องการทำให้น้ำเปลี่ยนไปเป็นแก๊สไฮโดรเจนและแก๊สออกซิเจน ก็ทำได้ยาก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางเคมีสามารถเขียนแทนด้วยสมการเคมี ดังเช่นตัวอย่าง
2H2 + O2 -----> 2H2O
จากตัวอย่าง จะเห็นว่าสมการเคมีประกอบด้วยสารตั้งต้นอยู่ทางซ้ายมือแล้วตามด้วยลูกศร ซึ่งหมายถึงเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี ได้เป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสารใหม่ทางขวามือ
ตัวอย่างอื่นๆ อาทิเช่น เหล็กเกิดสนิม การเผาไหม้ของน้ำมันเชื้อเพลิง การเปลี่ยนสีของกระดาษลิตมัส การย่อยอาหาร การสังเคราะห์ด้วยแสง เป็นต้น
เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร