สารแต่ละชนิดมีสมบัติบางประการที่เหมือนกัน และบางประการที่แตกต่างกัน เช่น ทองแดงและทองคำ มีสมบัติเหมือนกันคือ เป็นมันวาว นำไฟฟ้า นำความร้อน และสามารถนำมาตีให้เป็นแผ่นบางได้ แต่มีสมบัติที่แตกต่างกัน เช่น สี ความหนาแน่น จุดหลอมเหลว จุดเดือด และการเกิดปฏิกิริยาเคมี ซึ่งสามารถแบ่งสมบัติของสารได้เป็นสมบัติทางกายภาพ และสมบัติทางเคมี
1. สมบัติทางกายภาพ (physical property)
คือสมบัติของสาร ที่วัดได้โดยไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบ หรือชนิดของสาร เช่น จุดเยือกแข็งของน้ำเท่ากับ 0 องศาเซลเซียส แสดงว่า ที่ 0 องศาเซลเซียส น้ำเปลี่ยนสถานะเป็นน้ำแข็ง โดยไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นสารใหม่ มีสูตรโมเลกุลเหมือนเดิม คือ H2O จุดเยือกแข็ง ถือเป็นสมบัติทางกายภาพอย่างหนึ่งของน้ำ แต่ยังมีสมบัติทางกายภาพอื่นๆ อีก เช่น สถานะ สี กลิ่น มวล ปริมาตร ความหนาแน่น สภาพละลายได้ ความเหนียว ความเปราะ ความแข็ง ความมันวาว การนำไฟฟ้า การนำความร้อน เป็นต้น
2. สมบัติทางเคมี (chemical property)
เป็นสมบัติที่เมื่อทำให้สารเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว องค์ประกอบและชนิดของสารจะเปลี่ยนแปลงไป เช่น เมื่อน้ำได้รับพลังงานไฟฟ้า จะถูกแยกสลายเป็นแก๊สไฮโดรเจน และแก๊สออกซิเจน น้ำมันพืชเมื่อทำปฏิกิริยากับออกซิเจน และความชื้น จะเกิดเป็นสารใหม่ที่มีกลิ่นเหม็นหืน รวมถึงการเกิดแก๊ส การเกิดตะกอน การผุกร่อน การติดไฟ การเกิดสนิม การเผาไหม้ การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิหรือการเกิดแสง เป็นต้น
เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร