ปรากฏการณ์ที่เกิดจากโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 279.4K views



การหมุนรอบตัวเองของโลก ทำให้เกิดกลางวัน-กลางคืน การขึ้นและตกของดวงอาทิตย์และดวงดาวต่างๆ ทำให้เกิดทิศ ในขณะที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์โดยแกนโลกเอียงทำให้เกิดฤดูต่างๆ

ภาพ : shutterstock.com

 

ขณะที่โลกหมุนรอบตัวเอง โลกก็โคจรรอบดวงอาทิตย์ไปด้วย โดยโคจรไปในทิศทางเดียวกับการหมุนรอบตัวเอง หรือโคจรจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก ในลักษณะที่แกนโลกเอียงเป็นมุม 23.5 องศา จากแนวตั้งฉากกับระนาบที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์

การที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ในลักษณะที่แกนโลกเอียงทำให้บริเวณต่างๆ ของผิวโลกได้รับแสงอาทิตย์แตกต่างกัน เป็นผลให้เกิดฤดูต่างๆ บนโลก ดังนี้

 

ภาพ : shutterstock.com

1. ในวันที่ 21/22 มิถุนายน โลกหันขั้วโลกเหนือเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์มากที่สุด จึงเป็นวันเริ่มต้นฤดูร้อนของซีกโลกเหนือ ช่วงเวลากลางวันยาวกว่ากลางคืน​
2. ในวันที่ 22/23 กันยายน โลกหันบริเวณศูนย์สูตรเข้าหาดวงอาทิตย์พอดี เป็นช่วงเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วง ช่วงเวลากลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน​
3. ในวันที่ 21/22 ธันวาคม โลกหันขั้วโลกเหนือออกจากดวงอาทิตย์มากที่สุด จึงเป็นวันเริ่มต้นฤดูหนาวของซีกโลกเหนือ ช่วงเวลากลางวันสั้นกว่ากลางคืน​
4. ในวันที่ 20/21 มีนาคม โลกหันบริเวณศูนย์สูตรเข้าหาดวงอาทิตย์พอดี เป็นช่วงเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ ช่วงเวลากลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน

การที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ในลักษณะที่แกนโลกเอียง ทำให้ตำแหน่งขึ้นและตกของดวงอาทิตย์เปลี่ยนแปลงอย่างเป็นวัฏจักร ดังนี้

1. ในวันที่ 21 มีนาคม ดวงอาทิตย์ขึ้นตรงกับทิศตะวันออก และตกตรงกับทิศตะวันตก แต่ตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ขึ้นในแต่ละวันจะค่อยๆ เลื่อนไปทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือ
2. ในวันที่ 21 มิถุนายน ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือประมาณ 23.5 องศา หลังจากนั้น ตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ขึ้นในแต่ละวันจะกลับไปทางทิศตะวันออก
3. ในวันที่ 23 กันยายน ดวงอาทิตย์ขึ้นตรงกับทิศตะวันออกอีกครั้ง ตำแหน่งที่ขึ้นในแต่ละวันจะค่อยๆ เลื่อนไปทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้
4. ในวันที่ 22 ธันวาคม ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้ประมาณ 23.5 องศา แล้วเริ่มเคลื่อนกลับไปทางทิศตะวันออก