วงจรไฟฟ้าในบ้าน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 80.2K views



วงจรไฟฟ้าในบ้าน โดยทั่วไปแล้วประกอบด้วยอุปกรณ์ไฟฟ้าหลายชนิด เช่น สะพานไฟ สวิตซ์ ฟิวส์ เต้ารับ เต้าเสียบ สายไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งอุปกรณ์ต่างๆ ทำงานเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน เพื่อให้แต่ละบ้านใช้ประโยชน์จากกระแสไฟฟ้าได้อย่างเต็มที่

ภาพ : shutterstock.com

วงจรไฟฟ้าในบ้านประกอบด้วยมาตรไฟฟ้า แผงรวมไฟ ที่ประกอบด้วยสะพานไฟรวม ฟิวส์ สะพานไฟย่อย สวิตซ์ ปลั๊กไฟ เต้ารับ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ช่วยนำกระแสไฟฟ้าไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สิน แล้วจึงต่อกับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ในบ้าน เมื่อเรากดสวิตซ์ให้วงจรปิด จะทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เริ่มทำงาน

การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม และถูกต้องกับลักษณะเฉพาะทางของเครื่องใช้ไฟฟ้านั้น ซึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าจะระบุค่ากำลังไฟฟ้า กระแสไฟฟ้า ความต่างศักย์ ชนิดของกระแสไฟฟ้าที่ใช้ นอกจากนี้ การเลือกใช้สายไฟก็ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม และหมั่นดูแลสภาพของสายไฟฟ้าไม่ให้ฉนวนที่หุ้มสายไฟฟ้าชำรุด มิเช่นนั้นแล้ว อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อทรัพย์สินและชีวิตได้

 

อุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้าน

ภาพ : shutterstock.com

1. สะพานไฟหรือคัตเอาท์

เป็นสวิตซ์ขนาดใหญ่ของบ้าน ทำหน้าที่เปิดปิดวงจรไฟฟ้าในบ้าน โดยเชื่อมเข้ากับสายไฟที่ต่อมาจากมาตรไฟฟ้าเข้ากับวงจรไฟฟ้าในบ้าน สะพานไฟหรือคัตเอาท์มีหลายขนาดด้วยกัน ขึ้นกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผ่านได้สูงสุด

ที่สะพานไฟหรือคัตเอาท์มีที่สำหรับติดฟิวส์เอาไว้ด้วย ดังนั้น ถ้ากระแสไฟฟ้าไหลผ่านสะพานไฟ หรือคัตเอาท์มากกว่าสะพานไฟจะรับได้ ฟิวส์จะขาด เมื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านชำรุด หรือต้องการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่ม สามารถทำได้โดยการยกสะพานไฟ เพื่อตัดวงจรไฟฟ้าบริเวณที่ต้องการได้ หลังจากซ่อมแซมหรือติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว ก็โยกคันโยกของสะพานไฟกลับเข้าสู่บริเวณเดิมให้แน่นกับที่รองรับ

ภาพ : shutterstock.com

2. สวิตซ์

เมื่อต้องการให้หลอดไฟสว่าง เราจะกดสวิตซ์ให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านเข้าไปในวงจร จะได้แสงสว่างจากหลอดไฟนั้น สวิตซ์จึงเป็นตัวควบคุมวงจรของเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน โดยใช้ตัดหรือต่อวงจรไฟฟ้าที่เราต้องการ

สวิตซ์ไฟฟ้าต้องต่ออนุกรมกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องการควบคุมการทำงานนั้น สวิตซ์ส่วนใหญ่มีแผ่นโลหะติดกับคานซึ่งเป็นฉนวน เมื่อกดคานหรือสวิตซ์จะทำให้เปิดหรือปิดวงจรไฟฟ้าได้

ภาพ : shutterstock.com

3. ฟิวส์

ฟิวส์ คือ อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ป้องกันไม่ให้กระแสไฟฟ้าไหลเข้าวงจรไฟฟ้าในบ้านมากเกินไป เพราะอาจทำให้ไฟไหม้บ้าน ฟิวส์ทำด้วยวัตถุที่มีความต้านทานสูง แต่มีจุดหลอมเหลวต่ำ เมื่อมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านฟิวส์มาก หรือมีกระแสไฟฟ้าไหลเข้าบ้านมาก ฟิวส์จะร้อนจัดจนหลอมเหลว ทำให้ฟิวส์ขาด วงจรไฟฟ้าในบ้านจะเปิด กระแสไฟฟ้าจะหยุดไหลเข้าบ้านทันที

ฟิวส์ที่ใช้กับวงจรในบ้านมีหลายขนาด การเลือกขนาดฟิวส์ที่ใช้จึงต้องเลือกให้พอเหมาะกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ใช้ในบ้าน

ภาพ : shutterstock.com

4. เต้ารับกับเต้าเสียบ

เป็นข้อต่อสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดที่เมื่อต้องการใช้ ก็ใช้เต้าเสียบที่ติดมากับปลายสายไฟของเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นเสียบกับเต้ารับ ส่วนเต้ารับจะต่ออยู่กับวงจรไฟฟ้าตามจุดต่างๆ ในบ้าน เมื่อเลิกใช้ก็ดึงเต้าเสียบออก เครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านั้นอาจมีสวิตซ์ติดอยู่กับเครื่องด้วยก็ได้

โดยทั่วไปเต้าเสียบมีขาโลหะอยู่ 2 ขา ยกเว้นเต้าเสียบบางชนิดมีขาโลหะอยู่ 3 ขา ซึ่งใช้เฉพาะกับเต้ารับที่มี 3 ช่องเช่นเดียวกัน

ภาพ : shutterstock.com

5. สายไฟฟ้า

สายไฟฟ้ามีขนาดที่แตกต่างกัน เราต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับแรงดันไฟฟ้า และปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ใช้งาน และสอดคล้องกับขนาดของฟิวส์ หรือสวิตซ์อัตโนมัติ หรือเบรกเกอร์ที่ใช้ สำหรับขนาดสายเมนและสายที่ต่อหลักดินนั้น ก็ต้องสอดคล้องกับขนาดของเมนสวิตซ์ และขนาดของเครื่องวัดด้วย

สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทให้ความร้อน เช่น หม้อหุงข้าว เตารีดไฟฟ้า กระทะไฟฟ้า ต้องใช้สายไฟฟ้าขนาดใหญ่กว่า เพราะต้องให้กระแสไฟฟ้าผ่านมากกว่าปกติ สายไฟฟ้าอาจแยกได้เป็น 2 แบบ คือ

- สายแข็ง เป็นสายไฟฟ้าที่มีลวดทองแดงเส้นเดียว พื้นที่หน้าตัดมีขนาดต่างๆ ตามต้องการ มักเป็นสายไฟฟ้าที่ติดตายตัว เดินตามผนังอาคาร
- สายอ่อน เป็นสายไฟฟ้าที่มีลวดทองแดงขนาดเล็กหลายๆ เส้นรวมอยู่ด้วยกัน ให้มีพื้นที่หน้าตัดรวมมีขนาดแตกต่างกัน เนื่องจากเป็นสายอ่อน จึงทำให้ม้วนหรือบิดงอได้ง่าย จึงเหมาะกับการใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ

สายไฟฟ้าที่ใช้อยู่ในบ้านเป็นสายไฟที่มีฉนวนไฟฟ้าหุ้ม อาจหุ้มด้วยยาง หรือหุ้มด้วยพีวีซี เพื่อกันสายไฟฟ้าไม่ให้แตะกัน สายไฟฟ้าบางชนิดอาจมีสารเคมีที่เป็นฉนวนเคลือบแทนยาง มักใช้ในมอเตอร์ ไดนาโม หม้อแปลงไฟฟ้า รวมทั้งใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดต่างๆ เหตุที่สายไฟฟ้าภายในบ้านต้องมีฉนวนหุ้มก็เพื่อกันไม่ให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรนั่นเอง