แรงกิริยาและแรงปฏิกิริยา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 93.7K views



เมื่อออกแรงดึงหรือผลักวัตถุ จะมีแรงโต้ตอบออกมาจากวัตถุกระทำต่อผู้ออกแรง แรงที่กระทำต่อวัตถุเรียกว่า แรงกิริยา ส่วนแรงโต้ตอบที่ออกมาจากวัตถุ เรียกว่า แรงปฏิกิริยา ซึ่งเป็นไปตามกฎการเคลื่อนที่ของนิวตัน

ภาพ : shutterstock.com

 

กฎการเคลื่อนที่ของนิวตัน มีดังนี้

กฎข้อที่ 1 ถ้าไม่มีแรงภายนอกกระทำ วัตถุยังคงอยู่นิ่ง หรือเคลื่อนที่เป็นแนวตรงด้วยความเร็วคงตัวตลอดไป

กฎข้อที่ 2 แรงลัพธ์ที่ไม่เป็นศูนย์กระทำต่อวัตถุ ทำให้วัตถุเคลื่อนที่ด้วยความเร่ง

กฎข้อที่ 3 ทุกแรงกิริยาที่กระทำต่อวัตถุ ต้องเกิดแรงปฏิกิริยาขนาดเท่ากัน แต่ทิศทางตรงกันข้ามเกิดขึ้นพร้อมกันเสมอ

จากกฎข้อที่ 3 เมื่อเราออกแรงผลักกำแพงจะรู้สึกว่ามีแรงๆ หนึ่งกระทำโต้ตอบมือ แสดงว่ากำแพงกำลังผลักเรากลับด้วยขนาดที่มากเท่ากับที่เราผลักกำแพง แรงที่เราผลักกำแพงคือ แรงกิริยา (action) แรงที่กำแพงผลักเราคือ แรงปฏิกิริยา (reaction) แรงกิริยาและแรงปฏิกิริยาเป็นแรงที่เกิดขึ้นพร้อมกัน มีขนาดเท่ากัน แต่มีทิศทางตรงกันข้าม เราจึงเรียกแรงคู่นี้ว่า แรงคู่กิริยา-ปฏิกิกิริยา​

แรงคู่กิริยา-ปฏิกิริยาที่กระทำต่อวัตถุคนละก้อน อาจเกิดขึ้นได้แม้วัตถุทั้งคู่ออกแรงกระทำต่อกันโดยไม่สัมผัสกัน เช่น แรงผลักระหว่างแม่เหล็กที่ขั้วเหมือนกัน และแรงดูดระหว่างแม่เหล็กต่างขั้วกัน เมื่อวางแม่เหล็ก 2 อัน โดยหันขั้วที่เหมือนกันเข้าหากัน เช่น หันขั้วเหนือเข้าหากัน ดังนี้

กำหนดให้

F1  เป็นแรงที่ขั้วเหนือของแม่เหล็ก A กระทำกับขั้วเหนือของแม่เหล็ก B มีทิศทางไปทางขวามือ
F2  เป็นแรงที่ขั้วเหนือของแม่เหล็ก B กระทำกับขั้วเหนือของแม่เหล็ก A มีทิศทางไปทางซ้ายมือ

จึงเกิดแรงผลักจากขั้วเหนือของแม่เหล็ก A ผลักขั้วเหนือของแม่เหล็ก B โดยทิศทางการผลักไปทางขวามือ ขณะเดียวกันเกิดแรงผลักจากขั้วเหนือของแม่เหล็ก B ผลักขั้วเหนือของแม่เหล็ก A โดยทิศทางการผลักไปทางซ้ายมือ