การเปลี่ยนสภาพการเคลื่อนที่ของวัตถุเกิดจากแรงลัพธ์ ซึ่งเป็นผลรวมของแรงหลายแรง ทั้งขนาด และทิศ ที่กระทำต่อวัตถุในเวลาเดียวกัน เมื่อแรงลัพธ์เป็นศูนย์ ถ้าวัตถุหยุดนิ่ง วัตถุก็ยังคงมีสภาพหยุดนิ่ง หรือถ้าวัตถุกำลังเคลื่อนที่ วัตถุก็จะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วคงตัวตลอดไป
แรง (force) เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แรงทำให้วัตถุเปลี่ยนรูปร่าง หรือเปลี่ยนสภาพการเคลื่อนที่ หรือทั้งเปลี่ยนรูปร่างและสภาพการเคลื่อนที่ แรงเป็นปริมาณเวกเตอร์ จึงมีทั้งขนาด และทิศทาง
แรงลัพธ์ คือ ผลรวมของแรงหลายแรงที่กระทำต่อวัตถุในเวลาเดียวกัน เมื่อแรงลัพธ์ที่กระทำต่อวัตถุเป็นศูนย์ วัตถุจะคงสภาพหยุดนิ่ง หรือเคลื่อนที่ด้วยความเร็วคงตัว ตามกฎข้อที่ 1 ของนิวตัน พิจารณาตัวอย่างดังต่อไปนี้
มีแรง F⃑1 และ F⃑2 กระทำต่อวัตถุในแนวดิ่ง วัตถุหยุดนิ่ง
F⃑1=F⃑2 แรงลัพธ์ = 0 วัตถุยังหยุดนิ่ง
มีแรง F⃑1 และ F⃑2 กระทำต่อวัตถุในแนวดิ่ง วัตถุเคลื่อนที่ด้วยความเร็วคงตัว
F⃑1=F⃑2 แรงลัพธ์ = 0 วัตถุยังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วคงตัว
มีแรง F⃑1 และ F⃑2 กระทำต่อวัตถุในแนวดิ่ง มีแรง F⃑3 และ F⃑4 กระทำต่อวัตถุในแนวระดับ วัตถุหยุดนิ่ง
F⃑1=F⃑2, F⃑3=F⃑4 แรงลัพธ์ = 0 วัตถุยังหยุดนิ่ง
มีแรง F⃑1 และ F⃑2 กระทำต่อวัตถุในแนวดิ่ง มีแรง F⃑3 และ F⃑4 กระทำต่อวัตถุในแนวระดับ วัตถุเคลื่อนที่ด้วยความเร็วคงตัว
F⃑1=F⃑2, F⃑3=F⃑4 แรงลัพธ์ = 0 วัตถุยังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วคงตัว