แสงจากดวงอาทิตย์สะท้อนจากวัตถุเข้าสู่เลนส์ตา ทำให้เกิดภาพในดวงตา โดยประสาทตาจะส่งสัณญาณไปยังสมอง เนื่องจากตาของคนเรานั้นต่างกัน บางครั้งมีความผิดปกติ จึงทำให้เกิดการมองเห็นที่ต่างกัน พบในคนสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง
การมองเห็นวัตถุได้นั้น วัตถุจะต้องมีแสงในตัวเอง หรือมีแสงสะท้อนมาจากวัตถุผ่านเลนส์นัยน์ตา ทำให้ได้ภาพจริงหัวกลับตกบนจอ หรือเรตินา เส้นประสาทตาจะรับภาพนี้ส่งไปยังสมอง สมองจะเปลี่ยนสัญญาณให้รับรู้ว่ามีภาพเกิดขึ้น
เลนส์ตาแตกต่างจากเลนส์ทั่วๆ ไป โดยเลนส์ตามีความยาวโฟกัสเปลี่ยนแปลงได้ จากการทำงานของกล้ามเนื้อยึดเลนส์ตา แต่เลนส์ทั่วๆ ไปมีความยาวโฟกัสคงที่ นัยน์ตาไม่สามารถปรับระยะภาพได้ แต่ทำให้เห็นภาพได้ชัดโดยการใช้กล้ามเนื้อยึดเลนส์ ปรับความยาวโฟกัสของเลนส์ตา
การปรับความยาวโฟกัสของเลนส์ตามีข้อจำกัด โดยมีระยะวัตถุน้อยที่สุดที่เราสามารถเห็นภาพได้ชัด ระยะวัตถุน้อยที่สุดที่สามารถเห็นภาพได้ชัดเรียกว่า ระยะใกล้ตา ขณะที่คนสายตาปกติมองดูวัตถุที่ระยะอนันต์ ภาพจริงของวัตถุจะเกิดบนจุดโฟกัสของเลนส์ตา ที่อยู่บนเรตินาพอดี
ระยะไกลสุดที่ตาคนปกติมองเห็นได้ชัดเจน เรียกว่า ระยะไกลตา
ระยะไกลตาของคนสายตาปกติคือ ระยะอนันต์
ระยะใกล้สุดของวัตถุที่ตาคนปกติมองเห็นได้ชัดเจนเรียกว่า ระยะใกล้ตา
ระยะใกล้ตาของคนสายตาปกติคือ ประมาณ 25 ซม.
คนสายตาสั้น มีระยะไกลตาน้อยกว่าคนสายตาปกติหรือน้อยกว่าระยะอนันต์
คนสายตาสั้นใส่แว่นตาที่ทำด้วยเลนส์เว้า ทำให้มองเห็นได้ชัดเจนเหมือนคนสายตาปกติ เพราะเลนส์เว้าช่วยกระจายแสงจากวัตถุทำให้แสงที่ผ่านเลนส์ตาไปทำให้เกิดภาพบนเรตินาพอดี
คนสายตายาว มีระยะไกลตาเหมือนคนสายตาปกติ แต่มีระยะใกล้ตาห่างจากดวงตามากกว่า 25 ซม.
คนสายตายาวใส่แว่นตาที่ทำด้วยเลนส์นูน ทำให้มองเห็นได้ชัดเจนเหมือนคนสายตาปกติ เพราะเลนส์นูนช่วยรวมแสงจากวัตถุ ทำให้แสงที่ผ่านเลนส์ตาไปเกิดภาพบนเรตินาพอดี
สายตาเอียง เกิดจากกระจกตามีความโค้งไม่สม่ำเสมอ ทำให้จุดโฟกัสในแต่ละแนวไม่เป็นจุดเดียวกัน ผู้มีสายตาเอียงจึงมองเห็นภาพไม่ชัดทั้งระยะใกล้และไกล ผู้มีสายตาเอียงมักมีภาวะสายตาสั้น หรือสายตายาวร่วมด้วย การแก้ไขทำได้โดยใช้แว่นสายตาเอียง ที่มีกำลังของเลนส์ในแต่ละแนวไม่เท่ากัน เพื่อแก้สายตาในแนวที่มีปัญหา