การสะท้อนของแสง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 223.4K views



การสะท้อนแสงทำให้เกิดมุมตกกระทบและมุมสะท้อน หลักการนี้ทำให้เกิดภาพบนกระจกเงา ภาพที่เกิดขึ้นบนกระจกเงาระนาบนั้นเป็นภาพเสมือน ไม่ใช่ภาพจริง เราจึงเห็นภาพในกระจกกลับซ้ายเป็นขวา

ภาพ : shutterstock.com

การสะท้อนแสง เป็นสมบัติชนิดหนึ่งในสมบัติหลายประการของแสง เช่น การหักเห ถ้าแสงเดินทางไปในตัวกลางเนื้อเดียวกัน แสงจะเดินทางเป็นเส้นตรงเสมอ และเมื่อลำแสงเดินทางจากตัวกลางหนึ่งเข้าสู่อีกตัวกลางหนึ่ง แสงบางส่วนจะสะท้อนกลับที่ผิวรอยต่อระหว่างตัวกลางทั้งสอง และบางส่วนจะหักเหเข้าสู่ตัวกลางใหม่ แต่ถ้าตัวกลางใหม่เป็นวัตถุที่ทึบแสงผิวเรียบและเป็นมันเงา แสงเกือบทั้งหมดจะสะท้อนกลับ ซึ่งเป็นไปตามกฎการสะท้อนของแสง

 

กฎการสะท้อนแสง มีอยู่ 2 ข้อ คือ

1. รังสีตกกระทบ รังสีสะท้อน และเส้นแนวตั้งฉากหรือเส้นปกติจะอยู่ในในระนาบเดียวกัน

2. มุมตกกระทบเท่ากับมุมสะท้อน

รังสีตกกระทบ คือ รังสีของแสงที่พุ่งเข้ากระจกหรือพื้นผิววัตถุ

รังสีสะท้อน คือ รังสีของแสงที่พุ่งออกจากกระจกหรือพื้นผิววัตถุ

เส้นแนวตั้งฉากหรือเส้นปกติ คือ เส้นที่ลากตั้งฉากกับกระจกหรือพื้นผิววัตถุตรงจุดที่แสงตกกระทบ

มุมตกกระทบ คือ มุมที่รังสีตกกระทบทำกับเส้นปกติ

มุมสะท้อน คือ มุมที่รังสีสะท้อนทำกับเส้นปกติ

 

การสะท้อนแสงบนกระจกเงาระนาบ

กระจกเงาระนาบ คือ กระจกแบนราบซึ่งด้านหนึ่งสะท้อนแสง

หลักการสะท้อนแสงจากกระจกเงานำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เช่น การดูภาพในกระจกเงาราบ คนขับรถมองถนนด้านหลังจากกระจกมองหลังหรือกระจกมองข้าง ภาพที่เกิดในกระจกเงาระนาบ มีลักษณะดังนี้

- เป็นภาพเสมือนหัวตั้ง อยู่หลังกระจก
- มีระยะวัตถุเท่ากับระยะภาพ ขนาดของวัตถุเท่ากับขนาดของภาพ
- มีลักษณะกลับซ้ายเป็นขวากับวัตถุ

 

ภาพ มี 2 ชนิด คือ

1. ภาพจริง เกิดจากแสงสะท้อนหรือแสงหักเหมาตัดกันจริงๆ ณ จุดที่เกิดภาพ ภาพจริงมีลักษณะหัวกลับเอาฉากรับภาพได้ เกิดอยู่หน้ากระจกหรือหลังเลนส์ เช่น ภาพจริงที่เกิดจากกระจกเว้าและเลนส์นูน

2. ภาพเสมือน เกิดจากการต่อแนวของแสงสะท้อนหรือแสงหักเหไปในทิศตรงข้ามไปตัดกัน ณ จุดที่เกิดภาพเสมือน ภาพเสมือนมองเห็นด้วยตา แต่เอาฉากรับภาพไม่ได้ และมีลักษณะหัวตั้งเสมอ เกิดที่หลังกระจกหรือหน้าเลนส์ เช่น ภาพเสมือนที่เกิดจากกระจกเงาระนาบ กระจกนูน เลนส์เว้า