ตาเป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยการมองเห็น นัยน์ตาของคนเรามีส่วนประกอบที่ค่อนข้างซับซ้อน เช่น กระจกตา เลนส์ตา ม่านตา รูม่านตา โฟเวีย เรตินา เป็นต้น ทุกๆ ส่วนประกอบของตานั้นมีหน้าที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน
การมองเห็นวัตถุต่างๆ ได้ เพราะมีแสงสีต่างๆ สะท้อนเข้าสู่นัยน์ตา นัยน์ตาเปรียบได้กับกล้องถ่ายรูปในขณะที่มองวัตถุใดๆ หมายถึง เรากำลังถ่ายภาพสีธรรมชาติของวัตถุนั้นๆ นัยน์ตาคนมีส่วนประกอบต่างๆ ที่ทำให้เห็นสีธรรมชาตินั้นได้ นัยน์ตาคนประกอบด้วยเนื้อเยื่อ 3 ชั้น คือ
1. สเคลอรา (sclera) เป็นเนื้อเยื่อชั้นนอก ทำหน้าที่ห่อหุ้มป้องกันอันตราย ตาขาวที่มองเห็นจากภายนอกคือส่วนหนึ่งของสเคลอรา
- กระจกตา (cornea) เป็นเยื่อเหนียวใส อยู่นอกเลนส์ตา ยอมให้แสงผ่านเข้าไปภายในได้ กระจกตาไม่มีหลอดเลือดมาเลี้ยง มีหน้าที่ช่วยให้มีการหักเหแสงมากขึ้น
2. คอรอยด์ (choroid) เป็นเนื้อเยื่อชั้นกลาง มีหลอดเลือดและเซลล์ที่มีรงควัตถุอยู่เป็นจำนวนมาก ทำหน้าที่เป็นฉากกั้นแสงไม่ให้ทะลุผ่านเรตินาลงไปถึงสเคลอรา ส่วนหลอดเลือดนำอาหารไปเลี้ยงเรตินา เนื้อเยื่อชั้นนี้มีส่วนประกอบย่อยต่างๆ ที่สำคัญมากมาย ดังนี้
- เลนส์ตา (แก้วตา) เป็นก้อนเนื้อใสเหมือนแก้ว อยู่หลังม่านตา มีรูปร่างเป็นเลนส์นูน ทำหน้าที่ควบคุมความยาวโฟกัสของเลนส์ ขณะมองวัตถุที่อยู่ไกล เลนส์ตาจะบาง แต่ขณะมองวัตถุที่อยู่ใกล้ เลนส์ตาจะป่องออก
- ม่านตา (iris) เป็นส่วนที่มีสีต่างๆ ตามเชื้อชาติ เช่น สีดำ สีฟ้า ทำหน้าที่ควบคุมปริมาณแสงที่ผ่านเข้าเลนส์ตา ถ้าแสงน้อยม่านตาจะขยาย ถ้าแสงมากม่านตาจะหรี่
- รูม่านตา (pupil) เป็นช่องตรงกลางม่านตา โดยรูจะหรี่เมื่อมีแสงเข้าตามาก และรูจะขยายเมื่อมีแสงน้อย
- กล้ามเนื้อยึดเอ็นตา คอยปรับโฟกัส โดยทำให้เลนส์ตานูนมากหรือน้อย เพื่อให้เกิดภาพที่ชัดบนเรตินา
3. จอรับภาพ (retina) เป็นเนื้อเยื่อชั้นในสุด มีเซลล์รับแสง 2 ชนิด ทำหน้าที่รับแสง คือ เซลล์รูปแท่ง จะบอกปริมาณแสง ทำงานได้ดีในที่มืด และเซลล์รูปกรวย จะบอกสี ทำงานได้ดีในที่สว่าง
- โฟเวีย (fovea) เป็นจุดที่รับภาพได้ชัดเจนที่สุดในเรตินา มีเซลล์รูปกรวยรับแสง
- จุดบอด (blind spot) เป็นตำแหน่งที่ตรงกับเส้นประสาทตา ไม่สามารถรับภาพได้ เนื่องจากไม่มีเซลล์รับแสง
- ประสาทตา ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลที่มองเห็นส่งไปยังสมอง