วัตถุเจือปนในอาหาร
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 12K views



นอกจากในอาหารจะมีสารอาหารชนิดต่างๆ แล้ว ยังมีวัตถุเจือปนในอาหารอีกหลายชนิด ทำให้อาหารนั้นมีสีสัน และรสชาติที่น่ารับประทานมากขึ้น วัตถุเจือปนในอาหารที่พบบ่อย ได้แก่ วัตถุกันเสีย เช่น ดินประสิว สีผสมอาหาร วัตถุปรุงแต่งรสอาหาร เช่น ผงชูรส น้ำตาลเทียม สารบอแรกซ์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้มีอันตรายต่อร่างกายหากรับประทานมากเกินไป

ภาพ : shutterstock.com

 

วัตถุเจือปนในอาหาร หมายถึง สารที่เติมลงในอาหารเพื่อช่วยสงวนคุณค่าทางอาหารไว้ ช่วยยืดอายุให้เก็บรักษาอาหารไว้ได้นานขึ้น และมีคุณภาพอาหารคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งยังอาจช่วยปรับปรุงคุณภาพอาหารในด้านกลิ่น สี และรส ให้เป็นที่ต้องการมากขึ้นอีกด้วย วัตถุเจือปนในอาหารแบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้

 

1. วัตถุกันเสีย หรือที่เรียกกันว่า สารกันบูด

ภาพ : shutterstock.com

 

เป็นสารเคมีที่ใส่ลงไปเพื่อหยุดการเจริญของจุลินทรีย์ที่ทำให้อาหารเน่าเสีย สารเคมีประเภทนี้ต้องใช้ในปริมาณที่กำหนดไว้ในกฎหมาย มิฉะนั้น คนกินอาหารที่ใส่สารเคมีประเภทนี้จะได้รับอันตราย ตัวอย่างของสารเคมีประเภทนี้ได้แก่ โซเดียมเบนโซเอท กรดซอร์บิค หรือแคลเซียมซอร์เบท กรดซาลิซิลิค โซเดียมไนเตรต

อาหารที่นิยมใส่วัตถุกันเสีย ได้แก่ ขนมจีนและเส้นก๋วยเตี๋ยว อาหารดองชนิดต่างๆ เช่น เต้าเจี้ยว ผักกาดดอง กระเทียมดอง ผลไม้แช่อิ่ม ขนมชนิดต่างๆ สังขยาทาขนมปัง ผลไม้กวนชนิดต่างๆ รวมทั้งแยมชนิดต่างๆ อาหารที่บรรจุกระป๋องหรือบรรจุขวด เช่น ผลไม้กระป๋อง ผักกระป๋อง น้ำหวาน น้ำซีอิ๊ว น้ำพริก น้ำอัดลม เป็นต้น

สารพวกไนไตรต์และไนเตรต เรียกกันทั่วไปว่า “ดินประสิว” พบในอาหารหลายชนิด เช่น เนื้อเค็ม แหนม หมูยอ กุนเชียง ปลาร้า ไส้กรอก เป็นต้น หากบริโภคอาหารที่เติมดินประสิวในปริมาณที่เกินกว่ากำหนดจะทำให้มีอาการปวดหัว อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาจถึงขั้นปวดท้องและกล้ามเนื้อไม่มีแรง

 

2. สีผสมอาหาร ใส่ในอาหารเพื่อให้อาหารมีสีสวยงามน่ารับประทาน

ภาพ : shutterstock.com

 

หากเป็นสีที่ได้จากธรรมชาติ เช่น สีเขียวจากใบเตย สีเหลืองจากขมิ้น ใช้แล้วปลอดภัย ในขณะที่สีที่ได้จากการสังเคราะห์บางชนิด ต้องใช้ในปริมาณที่จำกัด เนื่องจากไม่ปลอดภัย

ตัวอย่างอาหารที่ใส่สี ได้แก่ อาหารตากแห้ง เช่น กุ้งแห้ง ปลาสลิดแห้ง เครื่องดื่ม เช่น น้ำหวานสีต่างๆ น้ำอัดลม น้ำส้ม เครื่องปรุงรส เช่น กะปิ ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ น้ำปลา น้ำส้มสายชู อาหารกระป๋อง เช่น น้ำพริกต่างๆ ขนมหวานที่มีสีสันฉูดฉาด เช่น วุ้นกรอบ ขนมลูกชุบ ลูกกวาด ขนมชั้น ข้าวพอง มะพร้าวแก้ว รวมถึงอาหารประเภทอื่นๆ เช่น ข้าวเกรียบ กุนเชียง แหนม ไส้กรอก เต้าหู้ ทอดมัน เย็นตาโฟ เป็นต้น

สีย้อมผ้าหรือสีย้อมกระดาษ เป็นสีที่อาจมีโลหะหนัก เช่น ปรอท ตะกั่ว สารหนู แคดเมียม โครเมียม ถ้ารับประทานเข้าไปสะสมมากๆ อาจปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ชีพจรอ่อน หายใจอ่อน ระบบประสาทและสมองเป็นอัมพาต สีบางชนิดอาจไปจับตามเยื่อกระเพาะและลำไส้ ทำให้ดูดซึมอาหารไม่ได้ จึงอ่อนเพลีย น้ำหนักลด สีบางชนิดทำให้เกิดมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลือง ถุงน้ำดี และที่กระเพาะปัสสาวะได้

 

3. วัตถุปรุงแต่งกลิ่นรสอาหาร ใช้เติมลงไปในอาหารเพื่อให้อาหารมีกลิ่น และรสตรงตามความต้องการของผู้บริโภค

ภาพ : shutterstock.com

 

เดิมใช้กลิ่นจากพืช หรือสัตว์โดยตรง เช่น กลิ่นดอกมะลิ แต่ในปัจจุบัน ใช้การสังเคราะห์กลิ่นเหล่านี้ขึ้นมา นอกจากนั้นยังมีกลิ่นวนิลา กลิ่นสตรอวเบอร์รี กลิ่นช็อกโกแลต เป็นต้น

สำหรับการแต่งรสนั้นส่วนใหญ่ใช้ผงชูรส ซึ่งเป็นสารประกอบชื่อโมโนโซเดียมกลูตาเมท เพื่อให้อาหารมีรสอร่อย หากใช้ในปริมาณมากเกินควรก็จะมีอันตรายต่อร่างกาย ทำให้มีอาการแน่นหน้าอก ชาที่ต้นคอ ที่หลัง มีอาการอ่อนเพลีย และอาเจียน ร้อนไหม้ตามกระพุ้งแก้มและลิ้น กล้ามเนื้อหัวใจถูกบีบ เหงื่อออกมากกว่าปกติ สติปัญญาเสื่อมโทรม จากนั้นจะมีโรคต่างๆ ตามมาคือ ต่อมทอลซิลอักเสบบ่อยๆ ปากเป็นแผล มะเร็งในหลอดอาหารบริเวณคอ กระเพาะอาหารอักเสบ มะเร็งในตับ เป็นต้น

น้ำตาลเทียม หรือสารที่มีรสหวาน เช่น แซกคารีนหรือขัณฑสกรหรือดีน้ำตาล และไซคลาเมต นิยมใช้แทนน้ำตาล ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ มักใช้กับน้ำอัดลม น้ำหวานชนิดเข้มข้น ผลไม้กวน ผลไม้แช่อิ่ม หากร่างกายได้รับในปริมาณ 0.3 กรัม หลายๆ วันติดต่อกัน จะทำให้ระบบย่อยอาหารเสื่อมหรืออาจเป็นมะเร็งได้

บอแรกซ์ หรือน้ำประสานทอง หรือชาวบ้านเรียกว่าผงกรอบ ใช้ใส่ในอาหารทำให้อาหารมีความกรุบกรอบ เช่น แหนม หมูยอ แมงกะพรุน ลูกชิ้นเด้ง ทอดมัน หรือนำไปคลุกแป้งทำ ลอดช่อง รวมมิตร ทับทิมกรอบ มันทอด อันตรายที่เกิดจากบอแรกซ์ ทำให้กระเพาะอาหารอักเสบ ผิวหนังแห้งอักเสบ เกิดผื่นคันตามตัว ในกรณีที่เป็นรุนแรง มีจ้ำห้อเลือดตามตัว บอแรกซ์จะสะสมอยู่ที่กรวยไต ทำให้กรวยไตและท่อปัสสาวะอักเสบ ถ้ากินเข้าไปมากๆ ในครั้งเดียว จะอาเจียน ท้องร่วง เป็นไข้ เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย น้ำย่อยหลายอย่างถูกยับยั้ง ทำให้เสียชีวิตได้