สามเหลี่ยมโภชนาการ เป็นรูปแบบที่จะนำอาหารหลัก 5 หมู่ มาจัดแบ่งเป็น 4 ชั้น 6 กลุ่ม ตามปริมาณ สัดส่วน และความหลากหลายของสารอาหารที่คนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป จนถึงวัยผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ควรบริโภคใน 1 วัน
อาหารแต่ละชนิดประกอบด้วยสารอาหารต่างๆ ในปริมาณและสัดส่วนแตกต่างกัน และร่างกายก็ต้องการสารอาหารแต่ละอย่างในสัดส่วนต่างกัน และต้องการพลังงานจากคาร์โบไฮเดรต ไขมัน หรือโปรตีน ในปริมาณต่างกัน ขึ้นอยู่กับเพศ วัย สภาพการทำงานที่ต้องการพลังงาน ดังนั้นจึงมีการจำแนกอาหารออกเป็น 5 หมู่ หรือ 5 กลุ่มอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกบริโภคอาหารได้หลากหลาย ครบหมู่ และได้ตามปริมาณที่ร่างกายต้องการ โดยนำเสนอในรูปสามเหลี่ยมโภชนาการ
สามเหลี่ยมโภชนาการเป็นรูปแบบของข้อมูลอาหารที่แบ่งเป็น 4 ชั้น คือ
ชั้นที่ 1 ได้แก่ น้ำมัน น้ำตาล เกลือ
ชั้นที่ 2 ได้แก่ นม ไข่ เนื้อสัตว์
ชั้นที่ 3 ได้แก่ พืชผัก ผลไม้
ชั้นที่ 4 ได้แก่ ธัญพืช เช่น ข้าว แป้ง เผือก มัน
โดยสารอาหารที่เป็นองค์ประกอบในอาหารจำแนกตามองค์ประกอบทางเคมี 6 ประเภท คือ คาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน วิตามิน แร่ธาตุ และน้ำ ธงโภชนาการเป็นรูปแบบที่จะนำอาหารหลัก 5 หมู่ (ไม่รวมน้ำ) มาจัดเป็น 4 ชั้น 6 กลุ่ม ตามปริมาณ สัดส่วน และความหลากหลายของอาหารที่คนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป จนถึงวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุควรบริโภคใน 1 วัน
ในรูปสามเหลี่ยมโภชนาการจะมีขนาดพื้นที่แตกต่างกัน ถ้าแสดงพื้นที่มาก ก็หมายถีงว่าควรบริโภคกลุ่มอาหารนั้นมาก ถ้าแสดงพื้นที่น้อย ก็ควรบริโภคกลุ่มอาหารนั้นน้อย และในแต่ละกลุ่มอาหาร ควรบริโภคอาหารหลากหลายชนิดเพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วน ไม่ควรบริโภคอาหารชนิดใดซ้ำๆ เป็นประจำเป็นเวลานาน เพราะอาจเกิดการสะสมพิษ หรือสารปนเปื้อนจากอาหารเข้าสู่ร่างกายได้