สารอาหารที่เรารับประทานในแต่ละมื้อ ประกอบด้วยสารอาหารที่ให้พลังงาน ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน และสารอาหารที่ไม่ให้พลังงาน ได้แก่ วิตามิน แร่ธาตุ และน้ำ สารอาหารแต่ละชนิดให้พลังงานแตกต่างกัน การรับประทานอาหารมากเกินไป หรือการรับไขมันมากเกินไป ทำให้เกิดโรคอ้วน เราสามารถตรวจสอบว่าเราเป็นโรคอ้วนหรือไม่ ได้จากการวัดค่าดัชนีมวลกาย
พลังงานในอาหารมักใช้หน่วยเป็น กิโลแคลอรี (kcal) โดยที่
1 กิโลแคลอรี = 1,000 แคลอรี
1 แคลอรี = 4.2 จูล
สารอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน โดยที่
คาร์โบไฮเดรต 1 กรัม ให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี
โปรตีน 1 กรัม ให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี
ไขมัน 1 กรัม ให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรี
คนในแต่ละช่วงอายุต้องการพลังงานแตกต่างกัน เพราะมีสภาพร่างกายและกิจกรรมที่แตกต่างกัน เช่น วัยรุ่นอายุ 13-15 ปี ต้องการพลังงานมากกว่าในช่วงอายุ 9-12 ปี เพราะช่วง 13-15 ปีร่างกายมีอัตราการเจริญเติบโตมากกว่า รวมทั้งมีกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องใช้พลังงานมากกว่า
เพศชายและเพศหญิงที่มีอายุเท่ากันระหว่างช่วงอายุ 9-71 ปีขึ้นไป ในแต่ละวันเพศชายต้องการพลังงานมากกว่าเพศหญิง เพราะเพศชายมีน้ำหนักตัวมากกว่าเพศหญิง และเพศชายมีกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงานมากกว่าเพศหญิง
พลังงานที่ร่างกายต้องการแตกต่างกันไปตามปัจจัยดังต่อไปนี้
1. เพศ พบว่าเพศชายและเพศหญิงที่มีอายุเท่ากัน เพศชายต้องการพลังงานมากกว่าเพศหญิง
2. อายุ พบว่าตั้งแต่ 0-18 ปี เมื่ออายุมากขึ้นจะต้องการพลังงานมากขึ้น
3. สภาพร่างกาย สตรีที่กำลังตั้งครรภ์ และสตรีที่กำลังให้นมบุตร ต้องการพลังงานมากกว่าคนปกติ
4. กิจกรรม คนที่ทำกิจกรรมมากกว่าจะต้องการพลังงานที่มากกว่าด้วย
5. ลักษณะงานหรืออาชีพ คนที่เป็นกรรมกรหรือใช้แรงงาน ต้องการพลังงานมากกว่าคนที่เป็นนักเขียน
การพิจารณาว่าตัวเรามีน้ำหนักเกินมาตรฐานหรือไม่ ต้องพิจารณาจากดัชนีมวลกาย (Body Mass Index) หรือ BMI ค่าดัชนีมวลกายหาได้จากสูตร
จากค่าดัชนีมวลกาย สามารถใช้ตัดสินได้ว่าร่างกายของเราปกติ หรือผอมไป หรือมีน้ำหนักเกิน (อ้วน) ตามเกณฑ์ต่อไปนี้
ค่าดัชนีมวลกาย |
ลักษณะ |
น้อยกว่า 18.5 |
ผอม |
18.5 – 24.9 |
ปกติ / สมส่วน |
25.0 – 29.9 |
น้ำหนักเกิน |
30.0 – 34.9 |
อ้วน |
มากกว่า 35 |
อ้วนมาก |
โรคอ้วน คือ การที่มีปริมาณไขมันในร่างกายมากกว่าปกติ หากเป็นแล้ว จะทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมา เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคนิ่วในถุงน้ำดี โรคคอเลสเทอรอลในเลือดสูง โรคไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง กระดูกและข้อเสื่อมเร็วกว่าคนปกติ