ไขมัน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 6K views



ไขมัน หรือลิพิด เป็นสารอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกายมากที่สุด สามารถพบได้ทั้งในรูปไขและน้ำมัน มีส่วนประกอบเป็นกรดไขมันอิ่มตัว และกรดไขมันไม่อิ่มตัว น้ำมันบางชนิดทำให้เกิดการเหม็นหืน นอกจากนี้ คอเลสเทอรอลก็ถือว่าเป็นลิพิดเช่นกัน​

ภาพ : shutterstock.com

ลิพิด (lipid) เป็นสารอินทรีย์ชนิดหนึ่ง ประกอบด้วยธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน แต่มีอัตราส่วนจำนวนอะตอมไฮโดรเจน ต่อออกซิเจน ไม่เท่ากับ 2:1 ลิพิดมีหลายชนิด ได้แก่ ไขมัน น้ำมัน ไข สเตอรอยด์ ฟอสโฟลิพิด เป็นต้น

 

ไขมัน และน้ำมัน เกิดจากการรวมตัวกันของกรดไขมันกับกลีเซอรอล ไขมันกับน้ำมันมีความแตกต่างกันดังนี้

- ไขมันเป็นของแข็งที่อุณหภูมิห้อง ส่วนน้ำมันเป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง
- ไขมันมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นกรดไขมันอิ่มตัว ส่วนน้ำมันมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว

 

กรดไขมัน (fatty acid) แบ่งเป็น 2 ประเภทดังนี้

1. กรดไขมันไม่อิ่มตัว มีจุดหลอมเหลวต่ำ มักมีสถานะเป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง รวมตัวกับออกซิเจนในอากาศได้ดีเมื่อมีความร้อนและแสง คาร์บอนบางอะตอมต่อกันด้วยพันธะคู่ เช่น กรดปาล์มิโทเลอิก กรดโอเลอิก กรดไลโนเลอิก กรดไลโนเลนิก กรดอะแรคไคโดนิก เป็นต้น น้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวมาก เช่น น้ำมันข้าวโพด น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันเมล็ดทานตะวัน เป็นต้น

2. กรดไขมันอิ่มตัว มีจุดหลอมเหลวสูง มักมีสถานะเป็นของแข็งที่อุณหภูมิห้อง ไม่รวมตัวกับออกซิเจนในอากาศ เพราะคาร์บอนทุกอะตอมในโมเลกุลต่อกันด้วยพันธะเดี่ยว เช่น กรดคาพริก กรดลอริก กรดไมริสติก กรดปาล์มิติก กรดสเตียริก กรดอะแรคไคดิก เป็นต้น น้ำมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวมาก เช่น เนย ไขสัตว์ น้ำมันสัตว์ และน้ำมันพืชบางชนิด เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม เป็นต้น

 

การเหม็นหืนของน้ำมัน หรือไขมัน เกิดจากแก๊สออกซิเจนเข้าทำปฏิกิริยากับกรดไขมันตรงตำแหน่งพันธะคู่ เกิดแอลดีไฮด์ และกรดไขมัน ที่มีโมเลกุลขนาดเล็ก ที่ระเหยได้ง่ายและมีกลิ่นเหม็น หรือเกิดจากเอนไซม์ของจุลินทรีย์ในอากาศไปไฮโดรไลส์ไขมัน เกิดกรดไขมันที่มีกลิ่นเหม็น 

น้ำมันพืชเหม็นหืนช้ากว่าไขมันสัตว์ เพราะน้ำมันพืชมีวิตามินอี ที่ต่อต้านการเกิดปฏิกิริยาระหว่างกรดไขมัน กับแก๊สออกซิเจนตรงตำแหน่งที่เป็นพันธะคู่

กรดไขมันจำเป็น คือ กรดไขมันไม่อิ่มตัวที่ร่างกายสังเคราะห์เองไม่ได้ ต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น เช่น กรดไลโนเลนิก กรดอะแรคไคโดนิก กรดไขมันจำเป็นพบมากใน เมล็ดดอกคำฝอย เมล็ดดอกทานตะวัน เมล็ดข้าวโพด เมล็ดถั่วเหลือง เมล็ดงา เป็นต้น

คอเลสเทอรอล เป็นไขมันพวกสเตอรอยด์ ร่างกายใช้คอเลสเทอรอลในการสร้างฮอร์โมนเพศทุกชนิด สร้างน้ำดี เป็นฉนวนของเส้นประสาท แต่ถ้ามีคอเลสเทอรอลในเลือดสูง คอเลสเทอรอลจะรวมตัวกับไขมัน แล้วไปเกาะในหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงในหัวใจ ทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจอุดตัน ทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด และโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ทำให้เสียชีวิตได้ อาหารที่มีคอเลสเทอรอลสูง ได้แก่ ไข่แดง เครื่องในสัตว์ และอาหารทะเล

 

ไขมันมีประโยชน์ต่อร่างกายดังนี้

- ช่วยป้องกันการกระทบกระแทกของอวัยวะภายใน
- ป้องกันการสูญเสียความร้อนของร่างกาย ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น
- ป้องกันการสูญเสียน้ำ ทำให้ผิวหนังชุ่มชื้นไม่หยาบกร้าน ช่วยให้ผมและเล็บมีสุขภาพดี
- ช่วยละลายวิตามินบางชนิดที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี วิตามินเค
- ให้พลังงานแก่ร่างกาย โดยให้พลังงานมากกว่าคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนที่มีน้ำหนักเท่ากัน