คาร์โบไฮเดรต เป็นสารอาหารประเภทหนึ่งที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย สามารถแบ่งง่ายๆ ได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว น้ำตาลโมเลกุลคู่ และพอลิแซกคาไรด์ ตัวอย่างสารอาหารที่ให้คาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว แป้ง น้ำตาล ไกลโคเจน เป็นต้น
คาร์โบไฮเดรต (carbohydrate) คือ สารอินทรีย์ที่ประกอบด้วยธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน มีอัตราส่วนจำนวนอะตอมไฮโดรเจน ต่อออกซิเจน เท่ากับ 2:1 คาร์โบไฮเดรตเป็นแหล่งพลังงานที่ใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ พบได้ในข้าว แป้ง น้ำตาล ผัก ผลไม้ ถั่ว มันฝรั่ง มันสำปะหลัง ธัญพืชต่างๆ คาร์โบไฮเดรตแบ่งตามขนาดโมเลกุลได้ 3 ประเภท ดังนี้
1. มอนอแซ็กคาไรด์ หรือน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว
เป็นคาร์โบไฮเดรตที่มีโมเลกุลเล็กที่สุด ใน 1 โมเลกุลประกอบด้วย อะตอมของคาร์บอนตั้งแต่ 3-7 อะตอม มีสูตรโมเลกุลเป็น C6H12O6 มีสถานะเป็นของแข็ง ละลายน้ำได้ มีรสหวาน มอนอแซ็กคาไรด์แต่ละชนิดมีสมบัติต่างกัน เพราะมีโครงสร้างต่างกัน เช่น
กลูโคส พบในข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าว ผลไม้ น้ำผึ้ง ผัก
กาแลกโทส พบในน้ำนมและผลิตภัณฑ์นมในรูปของแลกโทส
ฟรุกโทส พบในน้ำเชื่อม ข้าวโพด ผลไม้ น้ำผึ้ง ผักต่างๆ
2. ไดแซ็กคาไรด์ หรือน้ำตาลโมเลกุลคู่
เกิดจากการรวมตัวของมอนอแซ็กคาไรด์ 2 โมเลกุล มีสูตรโมเลกุลเป็น C12H22O11 มีสถานะเป็นของแข็ง ละลายน้ำได้ มีรสหวาน เช่น
มอลโทส ประกอบด้วย “กลูโคส” 2 โมเลกุลรวมตัวกัน พบในข้าวมอลต์ ข้าวโพด เมล็ดพืชแก่
แลกโทส ประกอบด้วย “กลูโคส” รวมตัวกับ “กาแลกโทส” พบในน้ำนมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
ซูโครส ประกอบด้วย “กลูโคส” รวมตัวกับ “ฟรุกโทส” พบในน้ำตาลจากอ้อย มะพร้าว และตาล
3. พอลิแซ็กคาไรด์
เกิดจากมอนอแซ็กคาไรด์ตั้งแต่ 11-1,000 โมเลกุล ต่อกันเป็นสายยาวกลายเป็นพอลิเมอร์ พบได้ทั้งจากพืชและสัตว์ มีสถานะเป็นของแข็ง ไม่ละลายน้ำ ไม่มีรสหวาน เช่น
แป้ง ประกอบด้วยกลูโคสหลายพันโมเลกุลเชื่อมต่อกันเป็นสายยาว พืชเก็บสะสมไว้ในส่วนต่างๆ เช่น ลำต้นใต้ดิน
ไกลโคเจน เป็นอาหารสำรองที่ร่างกายเก็บสะสมไว้ที่ตับ ไว้ใช้ในยามที่ร่างกายขาดแคลนอาหาร เพราะตับสามารถเปลี่ยนไกลโคเจนให้เป็นกลูโคสได้เมื่อปริมาณกลูโคสในเลือดลดลง และเปลี่ยนกลูโคสที่เหลือใช้กลับไปเป็นไกลโคเจนเก็บสะสมไว้ในตับได้
เซลลูโลส เป็นส่วนประกอบของพืชที่เรียกว่า ใยอาหาร ซึ่งไม่ละลายน้ำ ร่างกายของคนเราย่อยสลายเซลลูโลสไม่ได้
ข้าวกล้อง คือ ข้าวที่สีเอาแกลบออก โดยยังมีจมูกข้าว และเยื่อหุ้มเมล็ดข้าวอยู่ ส่วนที่เป็นจมูกข้าว และเยื่อหุ้มเมล็ดข้าว มีคุณค่าทางอาหารมาก เพราะมีโปรตีน แร่ธาตุ และวิตามินต่างๆ รวมทั้งมีใยอาหารมากกว่าข้าวขัดขาว
ข้าวกล้องงอก มีกรดแกมมาอะมิโนบิวไทริก หรือสาร GABA ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยบำรุงเซลล์ประสาท ทำให้สมองเกิดการผ่อนคลาย ป้องกันการทำลายสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคสูญเสียความทรงจำ (อัลไซเมอร์)
การทดสอบคาร์โบไฮเดรต
- มอนอแซ็กคาไรด์ ทดสอบกับสารละลายเบเนดิกต์ได้ตะกอนสีแดงอิฐ
- ไดแซ็กคาไรด์ ทดสอบกับสารละลายเบเนดิกต์ได้ตะกอนสีแดงอิฐ ยกเว้นซูโครส (น้ำตาลทราย)
- แป้ง ทดสอบกับสารละลายไอโอดีนได้สารละลายสีน้ำเงินเข้ม
- แป้งและเซลลูโลส นำไปต้มกับกรด แล้วทดสอบกับสารละลายเบเนดิกต์จะได้ตะกอนสีแดงอิฐ