พฤติกรรม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 77.1K views



พฤติกรรมต่างๆ ในสิ่งมีชีวิตแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ พฤติกรรมที่มีมาแต่กำเนิด และพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ พฤติกรรมที่มีมาแต่กำเนิดยังสามารถแบ่งได้อีก 3 ประเภท คือ พฤติกรรมแบบโอเรียนเทชัน พฤติกรรมแบบรีเฟล็กซ์ และพฤติกรรมแบบรีเฟล็กซ์ต่อเนื่อง

ภาพ : shutterstock.com

พฤติกรรมต่างๆ ในสิ่งมีชีวิตแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้

1. พฤติกรรมที่มีมาแต่กำเนิด เช่น การบินเข้าหาแสงสว่างของแมลงเม่า การดูดนมของลูกอ่อน เป็นพฤติกรรมอย่างง่ายๆ มีลักษณะเฉพาะที่ใช้ในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าชนิดใดชนิดหนึ่ง มีการกำหนดเป้าหมายของพฤติกรรมไว้อย่างแน่นอน เช่น ตอบสนองต่อ แสง เสียง แรงโน้มถ่วงของโลก สารเคมี หรือเหตุการณ์ที่เกิดเป็นช่วงเวลาที่สม่ำสมอ เช่น กลางวัน กลางคืน น้ำขึ้นน้ำลง ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงฤดูกาล ตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวเพื่อปรับตำแหน่งที่เหมาะสม 

ภาพ : shutterstock.com

ความสามารถในการแสดงพฤติกรรมได้มาจากพันธุกรรมเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้มาก่อน มีแบบแผนที่แน่นอนเฉพาะตัวไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันจะแสดงลักษณะเหมือนกันหมด มี 3 ประเภท ดังนี้

       - พฤติกรรมแบบโอเรียนเทชัน (Orientation) เป็นพฤติกรรมที่สิ่งมีชีวิตตอบสนองต่อปัจจัยทางกายภาพ ทำให้เกิดการวางตัวที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิต ได้แก่ การว่ายน้ำของปลาตั้งฉากกับดวงอาทิตย์ ทำให้ศัตรูระดับต่ำกว่ามองไม่เห็น กิ้งก่าพองตัวขึ้นตั้งฉากกับดวงอาทิตย์ เพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวให้ได้รับความร้อนอย่างเพียงพอ ซึ่งเป็นการตอบสนองต่ออุณหภูมิของกิ่งก่าในเขตหนาว​

       - พฤติกรรมแบบรีเฟล็กซ์ (Reflex) เป็นพฤติกรรมที่มีมาแต่กำเนิดชนิดหนึ่งของสัตว์ ซึ่งเกิดจากส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายตอบสนองต่อสิ่งเร้า ที่มากระตุ้นอย่างรวดเร็วทันทีทันใด โดยไม่ต้องรอคำสั่งจากสมอง พฤติกรรมแบบนี้มีความสำคัญมาก เพราะช่วยให้สิ่งมีชีวิตรอดพ้นจากอันตรายที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันได้ทันท่วงที ทำให้มีโอกาสรอดพ้นจากอันตรายมากยิ่งขึ้น

พฤติกรรมแบบรีเฟล็กซ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องมีการเรียนรู้ และมีลักษณะเฉพาะในสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด ตัวอย่างเช่น การกระพริบตาเมื่อมีผงเข้าตา การยกเท้าหนีทันทีเมื่อเหยียบหนาม การกระตุกเข่าเมื่อถูกเคาะที่หัวเข่า เป็นต้น

       - พฤติกรรมแบบรีเฟล็กซ์ต่อเนื่อง (Chain of reflex) เป็นพฤติกรรมที่ประกอบด้วยพฤติกรรมย่อยๆ หลายพฤติกรรมที่เป็นปฏิกิริยารีเฟล็กซ์ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกัน เพราะไปกระตุ้นรีเฟล็กอื่นๆ ให้ทำงานต่อเนื่องกันจนเสร็จสิ้นภาระกิจ หรือเป้าหมายของพฤติกรรมจึงจะหยุด แต่เดิมใช้คำว่า สัญชาตญาณ (Instinct) แต่เนื่องจากคำว่าสัญชาตญาณมีความหมายที่กว้างมาก ซึ่งอาจรวมไปถึงพฤติกรรมที่มีมาตั้งแต่กำเนิดทุกชนิด จึงไม่นิยมใช้คำนี้ต่อไป

พฤติกรรมแบบรีเฟล็กซ์ต่อเนื่อง จะมีแบบแผนเฉพาะตัวในสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด ถึงแม้พฤติกรรมนี้จะจัดเป็นพฤติกรรมที่มีมาแต่กำเนิด แสดงออกได้โดยไม่ต้องมีการเรียนรู้ แต่พฤติกรรมบางอย่างจะแสดงออกได้เมื่อมีความพร้อมของร่างกายก่อน เช่น การบินของนก โดยเมื่อแรกเกิดลูกนกยังไม่สามารถบินได้ จนเมื่อขนปีกงอกเต็มที่ ขาและปีกแข็งแรงดีแล้วจึงบินได้ เป็นต้น ตัวอย่างพฤติกรรมแบบรีเฟล็กซ์ต่อเนื่อง เช่น การดูดนมของทารก การชักใยของแมงมุม การสร้างรังของแมลง เป็นต้น

 

2. พฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ เช่น การแสดงพฤติกรรมของสุนัขตามที่ได้รับการฝึกมา พฤติกรรมแบบนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีการเรียนรู้มาก่อน พฤติกรรมนี้จะเกิดขึ้นได้โดยอาศัยประสบการณ์หรือการเรียนรู้ของสัตว์ เนื่องจากพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้เป็นพฤติกรรมที่มีความซับซ้อน ส่วนใหญจึงพบในสัตว์ชั้นสูงที่มีระบบประสาทที่เจริญดี แต่อย่างไรก็ตาม ในสัตว์ชั้นต่ำบางชนิดก็สามารถแสดงพฤติกรรมประเภทนี้ได้เช่นกัน

ภาพ : shutterstock.com

ตัวอย่างเช่น คางคก จะกินแมลงทุกชนิดเป็นอาหาร เป็นพฤติกรรมที่มีมาแต่กำเนิด แต่เมื่อคางคกกินผึ้งซึ่งเป็นแมลง ปรากฎว่าถูกผึ้งต่อย ต่อมาคางคกจึงเรียนรู้ที่จะไม่กินผึ้งอีก เนื่องจากเคยโดนผึ้งต่อย นั่นคือ พฤติกรรมที่คางคกกินแมลงทุกชนิด เป็นพฤติกรรมที่มีมาแต่กำเนิด ในขณะที่พฤติกรรมที่คางคกไม่ยอมกินผึ้งอีกเนื่องจากเคยโดนผึ้งต่อย เป็นพฤติกรรมการเรียนรู้

 

พฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้สามารถแบ่งย่อยออกเป็นแบบต่างๆ ได้ดังนี้

- พฤติกรรมการเรียนรู้แบบเคยชิน (Habituation)

- พฤติกรรมการเรียนรู้แบบฝังใจ (Imprinting)

- พฤติกรรมการเรียนรู้แบบลองผิดลองถูก (Trial and Error)

- พฤติกรรมการเรียนรู้แบบมีเงื่อนไข (Conditioning)

- พฤติกรรมการเรียนรู้แบบใช้เหตุผล (Reasoning)