ระบบขับถ่าย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 258.8K views



ระบบขับถ่ายของมนุษย์มีความเกี่ยวข้องกับอวัยวะต่างๆ มากมาย ได้แก่ ไตขับถ่ายปัสสาวะ ต่อมเหงื่อคอยระบายเหงื่อ ปอดช่วยกำจัดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ และลำไส้ใหญ่ขับถ่ายกากของเสียในรูปอุจจาระ

ภาพ : shutterstock.com

 

ระบบขับถ่าย ทำหน้าที่กำจัดของเสียที่เกิดจากเมตาบอลิซึมของเซลล์ออกไปจากร่างกาย และช่วยควบคุมปริมาณของน้ำในร่างกายให้สมดุล อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับระบบขับถ่ายมีดังนี้


1. ไต​ เป็นอวัยวะที่มีลักษณะคล้ายถั่ว มีสีแดงแกมน้ำตาลมีเยื่อหุ้มบางๆ ไตมี 2 ข้าง ซ้ายและขวา อยู่บริเวณด้านหลังของช่องท้อง ใกล้กระดูกสันหลังบริเวณเอว บริเวณส่วนที่เว้าเป็นกรวยไต มีหลอดไตต่อไปยังกระเพาะปัสสาวะ

โครงสร้างไตประกอบด้วยเนื้อเยื่อ 2 ชั้น หน่วยไตชั้นนอก เรียกว่า คอร์ดเทกซ์ ชั้นในเรียกว่า เมดัลลา ภายในไตประกอบด้วยหน่วยไต มีลักษณะเป็นท่อขดมีหลอดเลือดฝอยเป็นกระจุกอยู่เต็มไปหมด

ไตเป็นอวัยวะที่ทำงานหนัก ในแต่ละนาทีจะมีเลือดมายังไตราว 1,000 มิลลิลิตร ไตจะขับของเสียออกมาในรูปของน้ำปัสสาวะ แล้วส่งต่อไปยังกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งมีความจุประมาณ 500 ลูกบาศก์เซนติเมตร ร่างกายจะรู้สึกปวดปัสสาวะเมื่อน้ำปัสสาวะไหลสู่กระเพาะปัสสาวะประมาณ 250 ลูกบาศก์เซนติเมตร ใน 1 วัน คนเราจะขับน้ำปัสสาวะออกมาประมาณ 1-1.5 ลิตร

 

2. ผิวหนัง ผิวหนังมีการกำจัดของเสียในรูปของเหงื่อ เหงื่อประกอบไปด้วยน้ำเป็นส่วนใหญ่ เหงื่อจะถูกขับออกจากร่างกายทางผิวหนัง โดยผ่านต่อมเหงื่อซึ่งอยู่ใต้ผิวหนัง ต่อมเหงื่อมี 2 ชนิด คือ

        - ต่อมเหงื่อขนาดเล็ก มีอยู่ทั่วผิวหนังในร่างกาย ยกเว้นที่ริมฝีปากและอวัยวะสืบพันธุ์ ต่อมเหงื่อขนาดเล็กมีการขับเหงื่อออกมาตลอดเวลา เหงื่อที่ออกจากต่อมขนาดเล็กนี้ ประกอบด้วยน้ำร้อยละ 99 สารอื่นๆ ร้อยละ 1 ได้แก่ เกลือโซเดียม และยูเรีย
        - ต่อมเหงื่อขนาดใหญ่ จะอยู่ที่บริเวณ รักแร้ รอบหัวนม รอบสะดือ ช่องหูส่วนนอก อวัยวะเพศบางส่วน ต่อมนี้มีท่อขับถ่ายใหญ่กว่าชนิดแรก ต่อมนี้จะตอบสนองทางจิตใจ สารที่ขับถ่ายมักมีกลิ่น ซึ่งก็คือกลิ่นตัว เหงื่อจะถูกลำเลียงไปตามท่อที่เปิดอยู่ที่เรียกว่า รูเหงื่อ

 

3. ปอด แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ แก๊ส และน้ำ ซึ่งเกิดจากการเผาผลาญอาหารภายในเซลล์ จะถูกส่งเข้าสู่เลือด จากนั้นหัวใจจะสูบฉีดเลือดที่มีแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ไปที่ปอด ปอดจะทำการกรองแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ แล้วขับออกจากร่างกายโดยการหายใจออก

 

4. ลำไส้ใหญ่ กากอาหารที่เหลือจากการย่อย จะถูกลำเลียงผ่านไปยังลำไส้ใหญ่ โดยลำไส้ใหญ่จะทำหน้าที่สะสมกากอาหาร และจะดูดซึมสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น น้ำ แร่ธาตุ วิตามิน และกลูโคส ออกจากกากอาหาร ทำให้กากอาหารเหนียว และข้นจนเป็นก้อนแข็ง จากนั้น ลำไส้จะบีบตัวเพื่อให้กากอาหารเคลื่อนที่ไปรวมกันที่ลำไส้ตรง และขับถ่ายสู่ภายนอกร่างกายทางทวารหนักในรูปของอุจจาระ