ระบบหายใจ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 140.3K views



มนุษย์ทุกคนต้องหายใจเพื่อมีชีวิตอยู่ เราหายใจเข้าสูดแก๊สออกซิเจน และหายใจออกคายแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ระบบหายใจของมนุษย์มีความเกี่ยวข้องกับอวัยวะต่างๆ มากมาย ได้แก่ จมูก หลอดลม ปอด และเยื่อหุ้มปอด

ภาพ : shutterstock.com

 

มนุษย์ทุกคนต้องหายใจเพื่อมีชีวิตอยู่ เมื่อหายใจเข้า อากาศจะผ่านไปตามอวัยวะของระบบหายใจตามลำดับ ดังนี้

1. จมูก (Nose) รูจมูกทำหน้าที่เป็นทางผ่านของอากาศ ที่หายใจเข้าไปยังช่องจมูกและกรองฝุ่นละอองด้วย

2. หลอดคอ (Pharynx) เมื่ออากาศผ่านรูจมูกแล้วก็ผ่านเข้าสู่หลอดคอ ซึ่งเป็นหลอดตั้งตรงยาวประมาณยาวประมาณ 5 นิ้ว หลอดคอติดต่อทั้งช่องปากและช่องจมูก จึงแบ่งเป็นหลอดคอส่วนจมูกกับหลอดคอส่วนปาก โดยมีเพดานอ่อนเป็นตัวแยกสองส่วนนี้ออกจากกัน โครงของหลอดคอประกอบด้วยกระดูกอ่อน 9 ชิ้นด้วยกัน ชิ้นที่ใหญ่ที่สุด คือกระดูกธัยรอยด์ ที่เราเรียกว่า "ลูกกระเดือก" ในผู้ชายเห็นได้ชัดกว่าผู้หญิง

3. หลอดเสียง (Larynx) เป็นหลอดยาวประมาณ 4.5 ซม. ในผู้ชาย และ 3.5 ซม. ในผู้หญิง หลอดเสียงเจริญเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ ตามอายุ ในวัยเริ่มเป็นหนุ่มสาว หลอดเสียงเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในผู้ชาย เนื่องจากสายเสียง (Vocal cord) ซึ่งอยู่ภายในหลอดเสียงนี้ยาว และหนาขึ้นอย่างรวดเร็วเกินไป จึงทำให้เสียงแตกพร่า การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากฮอร์โมนของเพศชาย

4. หลอดลม (Trachea) เป็นส่วนที่ต่อออกมาจากหลอดเสียง ยาวลงไปในทรวงอก ลักษณะรูปร่างของหลอดลมเป็นหลอดกลมๆ ประกอบด้วยกระดูกอ่อนรูปวงแหวน หรือรูปตัว U ซึ่งมีอยู่ 20 ชิ้น วางอยู่ทางด้านหลังของหลอดลม ช่องว่างระหว่างกระดูกอ่อนรูปตัว U ที่วางเรียงต่อกันมีเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อเรียบมายึดติดกัน การที่หลอดลมมีกระดูกอ่อน จึงทำให้เปิดอยู่ตลอดเวลา ไม่มีโอกาสที่จะแบนเข้าหากันได้โดยแรงดันจากภายนอก จึงรับประกันได้ว่า อากาศจะสามารถเข้าได้ตลอดเวลา

หลอดลมส่วนที่ตรงกับกระดูกสันหลังช่วงอก จะแตกแขนงออกเป็นหลอดลมแขนงใหญ่ (Bronchi) ข้างซ้ายและขวา เมื่อเข้าสู่ปอดก็แตกแขนงเป็นหลอดลมเล็กในปอด หรือที่เรียกว่า หลอดลมฝอย (Bronchiole) และไปสุดที่ถุงลม (Alveolus) ซึ่งเป็นจุดที่อากาศอยู่ใกล้กับเส้นเลือดฝอยในปอดมากที่สุด จึงเป็นบริเวณที่เกิดการแลกเปลี่ยนแก๊สออกซิเจน กับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์

5. ปอด (Lung) ปอดเป็นอวัยวะภายในทรวงอกที่มีขนาดใหญ่ มีสองข้าง โดยปอดข้างขวาจะโตกว่าปอดข้างซ้ายเล็กน้อย และมีอยู่ 3 ก้อน ส่วนข้างซ้ายมี 2 ก้อน มีลักษณะยืดหยุ่นคล้ายฟองน้ำ และมีรูปร่างคล้ายกรวย มีปลายหรือยอดชี้ขึ้นไปข้างบน และไปสวมพอดีกับช่องเปิดแคบๆของทรวงอก ซึ่งช่องเปิดแคบๆ นี้ ประกอบขึ้นด้วยซี่โครงบนของกระดูกสันอก และกระดูกสันหลัง ฐานของปอดแต่ละข้างจะใหญ่และวางแนบสนิทกับกระบังลม

ระหว่างปอด 2 ข้าง จะพบว่ามีหัวใจอยู่ หน้าที่ของปอดคือ นำแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากเลือด และนำแก๊สออกซิเจนเข้าสู่เลือด

6. เยื่อหุ้มปอด (Pleura) เป็นเยื่อที่บางและละเอียดอ่อน เปียกชื้น และเป็นมันลื่น หุ้มผิวภายนอกของปอด เยื่อหุ้มนี้ ไม่เพียงคลุมปอดเท่านั้น ยังไปบุผิวหนังด้านในของทรวงอกอีกด้วย เยื่อหุ้มปอดมี 2 ชั้น ระหว่าง 2 ชั้นนี้ มีของเหลวอยู่นิดหน่อย เพื่อลดแรงเสียดสี ระหว่างเยื่อหุ้มมีโพรงว่าง เรียกว่าช่องระหว่างเยื่อหุ้มปอด

การหายใจเข้าและหายใจออก     

การหายใจเข้าและหายใจออก เกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อกระบังลม และกล้ามเนื้อยึดกระดูกซี่โครง

การหายใจเข้า กล้ามเนื้อกระบังลมหดตัว และกล้ามเนื้อยึดกระดูกซี่โครงดึงกระดูกซี่โครงให้ยกตัวขึ้น ปริมาตรของช่องอกที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความดันในช่องอกลดลง ส่งผลให้อากาศจากภายนอกเคลื่อนที่เข้าสู่ปอด

การหายใจออก กล้ามเนื้อกระบังลมคลายตัวจะยกตัวสูงขึ้น เป็นจังหวะเดียวกับกระดูกซี่โครงลดต่ำลง ทำให้ปริมาตรในช่องอกลดลง ความดันจึงเพิ่มขึ้นมากกว่าความดันของอากาศภายนอก อากาศจึงเคลื่อนที่ออกจากปอด

 

การแลกเปลี่ยนแก๊สและการใช้แก๊สออกซิเจน

ภาพ : shutterstock.com

เมื่อเราหายใจเข้า อากาศภายนอกเข้าสู่อวัยวะของระบบหายใจไปยังถุงลมในปอด ที่ผนังของถุงลมมีหลอดเลือดแดงฝอยติดอยู่ อากาศจึงใกล้ชิดกับเม็ดเลือดแดงมาก ออกซิเจนก็จะซึมผ่านผนังหลอดเลือดฝอยที่ถุงลมเข้าสู่เม็ดเลือดแดง ส่วนคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะออกจากเม็ดเลือดซึมผ่านผนังหลอดเลือดฝอยออกมาสู่ถุงลม