ภูมิคุ้มกัน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 12.6K views



ภูมิคุ้มกันของมนุษย์ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นหลังคลอด ได้แก่ ภูมิคุ้มกันก่อเอง และภูมิคุ้มกันรับมา นอกจากนี้ เรายังสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้จากการรับวัคซีน ท็อกซอยด์ หรือเซรุ่มได้อีกด้วย

ภาพ : shutterstock.com

 

ด่านป้องกันเชื้อโรคของร่างกายด่านแรก คือ ผิวหนัง ซึ่งสามารถขับกรดบางชนิดออกมากับเหงื่อ ช่วยในการยับยั้งแบคทีเรีย น้ำตาและน้ำลายก็มีฤทธิ์ทำลายเชื้อโรคได้ ในระบบทางเดินอาหารก็มีกรด เเละเมือกคอยกำจัดเชื้อโรค รวมทั้งเมือกที่อยู่ในระบบหายใจด้วยเช่นกัน

แต่ถ้าหากเชื้อโรคสามารถผ่านเข้าสู่ร่างกายได้ จะมีเซลล์เม็ดเลือดขาวทำหน้าที่กินเชื้อโรค และร่างกายยังสร้างภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี (Antibody) ขึ้นมาต่อต้านสิ่งแปลกปลอม หรือแอนติเจน (Antigen) โดยภูมิคุ้มกันจะมี 2 ประเภท คือ ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายมีอยู่แล้วตั้งแต่เกิด และภูมิคุ้มกันที่ได้รับมาภายหลัง ซึ่งมีความจำเพาะเจาะจงกับโรค

ในปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้พัฒนามากขึ้น ทำให้สามารถผลิตภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ ให้แก่ร่างกายได้ เช่น การฉีดวัคซีน ท็อกซอยด์ เซรุ่ม เป็นต้น

 

ภูมิคุ้มกัน (immunity) หมายถึง กลไกของร่างกายที่ต้านทานต่อโรคใดโรคหนึ่ง โดยภูมิคุ้มกันอาจเกิดเพียงชั่วคราวหรือตลอดไปก็ได้ ภูมิคุ้มกันแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

1. ภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ภูมิคุ้มกันเเบบนี้มีมาตั้งเเต่เกิด โดยทารกที่มีอายุครรภ์ 5 สัปดาห์ จะเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันได้เอง เเต่ยังสร้างได้น้อยมาก เนื่องจากเพิ่งเริ่มมีการเจริญของอวัยวะน้ำเหลือง

2. ภูมิคุ้มกันโรคที่เกิดขึ้นภายหลัง เป็นภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นหลังคลอดโดยแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ

- ภูมิคุ้มกันก่อเอง (Active immunity)

ภาพ : shutterstock.com

 

เป็นภูมิคุ้มกันที่เกิดจากร่างกายได้รับแอนติเจน หรือเชื้อโรคที่อ่อนกำลังลงซึ่งไม่ทำอันตรายต่อสุขภาพ โดยนำมาฉีด กิน หรือทาที่ผิวหนัง กระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันขึ้น เช่น การฉีดวัคซีนไอกรน โปลิโอ วัณโรค ไทฟอยด์ เป็นต้น

- ภูมิคุ้มกันรับมา (Passive immunity)

ภาพ : shutterstock.com

 

เป็นภูมิคุ้มกันที่ได้มาจากการสกัดจากเลือดของสิ่งมีชีวิต แล้วนำมาฉีดให้ร่างกายต้านทานโรคได้ทันที เช่น เซรุ่มแก้พิษงู เซรุ่มโรคพิษสุนัขบ้า บาดทะยัก คอตีบ เป็นต้น หรือได้รับภูมิคุ้มกันจากเเม่ตั้งเเต่อยู่ในครรภ์ เเละเมื่อคลอดออกมาจะได้รับภูมิคุ้มกันจากน้ำนมเเม่ แต่ภูมิคุ้มกันในน้ำนมเเม่จะลดลงหลังจากคลอดได้ 6 เดือนจึงทำให้ทารกติดเชื้อได้ง่ายในระยะนี้

วัคซีน (vaccine) คือ ตัวเชื้อโรค หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของเชื้อโรค ที่นำมาทำให้อ่อนฤทธิ์ลง หรือทำให้ตาย เมื่อเข้าไปในร่างกายไม่สามารถทำให้เกิดโรค แต่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรคซึ่งเกิดจากเชื้อโรคนั้น วัคซีนจึงใช้ป้องกันโรคในระยะยาว และไม่ทำให้เกิดการแพ้ที่เป็นอันตราย

ท็อกซอยด์ (toxoid) คือ วัคซีนที่ทำจากพิษของเชื้อโรคที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลงแล้ว วัคซีนจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคนั้นได้

เซรุ่ม (serum) คือ ของเหลวที่สกัดจากเลือดม้า หรือเลือดคนที่มีภูมิคุ้มกันโรคแล้วมาฉีดให้คนที่ได้รับเชื้อโรคเข้าไปแล้ว เพื่อให้ภูมิคุ้มกันที่ฉีดเข้าไปทำลายเชื้อโรค เซรุ่มจึงใช้รักษาโรคที่อยู่ในระยะที่อาจเป็นอันตราย การใช้เซรุ่มอาจทำให้ร่างกายเกิดการแพ้ ถ้ารุนแรงอาจถึงตายได้