ธรณีสัณฐาน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 34.4K views



ลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศที่แตกต่างกัน ส่งผลให้เกิดธรณีสันฐานต่างๆ ธรณีสันฐานที่พบในประเทศไทยถือว่ามีความหลากหลาย เช่น ที่ราบลุ่มน้ำทะเล ที่ราบสูง เป็นต้น

ภาพ : shutterstock.com

ธรณีสัณฐาน (Landform) คือ ลักษณะผิวโลกที่มีรูปพรรณสัณฐานที่แตกต่างกัน เช่น ภูเขา ที่ราบ ที่ราบสูง ถ้ำ เป็นต้น ลักษณะธรณีสัณฐานของประเทศไทย เมื่อจำแนกตามลักษณะวัสดุที่ประกอบเป็นหน่วยสัณฐานและการกำเนิดแล้ว จะประกอบไปด้วยลักษณะธรณีสัณฐานที่สำคัญ 6 ลักษณะ ดังนี้

1. ธรณีสัณฐานที่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำทะเล และตะกอนน้ำกร่อย

        - สัณฐานที่เป็นชายหาดและสันทรายชายฝั่ง พบเป็นแนวยาวขนานไปกับชายฝั่งทะเล จะพบเป็นบริเวณกว้างและยาวบริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก และชายฝั่งคาบสมุทรภาคใต้ด้านอ่าวไทย พบเป็นบริเวณแคบๆ ทางด้านตะวันตกของคาบสมุทรภาคใต้

        - สัณฐานที่เป็นที่ลุ่มต่ำระหว่างสันทราย พบเป็นบริเวณกว้างใหญ่ในจังหวัดนราธิวาส มีลักษณะน้ำขังตลอดทั้งปี เป็นน้ำเค็มและน้ำกร่อย

        - สัณฐานที่เป็นที่ราบลุ่มน้ำทะเลท่วมถึง เป็นพื้นที่ราบเรียบ มีลักษณะทั่วไปเป็นหาดเลน จะพบเป็นบริเวณกว้างบริเวณก้นอ่าวไทย และคาบสมุทรภาคใต้ชายฝั่งทะเลตะวันตก ลักษณะสัณฐานนี้ส่วนใหญ่จะปกคลุมไปด้วยป่าชายเลน

        - สัณฐานที่เป็นที่ราบลุ่มน้ำทะเลและน้ำกร่อยเคยท่วมถึงมาก่อน อยู่ถัดที่ราบน้ำทะเลท่วมถึงเข้ามา เป็นพื้นที่ราบเรียบ พบเป็นบริเวณกว้างในเขตที่ราบภาคกลางตอนล่าง

 

2. ธรณีสัณฐานที่เกิดจากตะกอนลำน้ำและลมพัดพามาทับถม

        - สัณฐานที่ราบน้ำท่วมถึง พื้นที่ส่วนนี้เกิดจากตะกอนลำน้ำพัดพามาทับถมมีอายุไม่มาก ได้แก่พื้นที่บริเวณสองฝั่งของแม่น้ำสายสำคัญต่างๆ

        - ลานตะพักลำน้ำขั้นต่ำ มีพื้นที่ราบเรียบ เกิดจากการทับถมของตะกอนลำน้ำที่มีอายุมาก พบในบริเวณสองฝั่งของแม่น้ำสายสำคัญต่างๆ

        - ลานตะพักลำน้ำขั้นกลางและขั้นสูง มีลักษณะเป็นลูกคลื่นไม่ราบเรียบ เกิดจากตะกอนที่ถูกพัดพามาทับถมกันเป็นเวลานานแล้ว

        - สัณฐานที่เป็นเนินตะกอนรูปพัด จะพบบริเวณที่ลาดเชิงเขา เกิดจากการกระทำของน้ำพัดพาเอาตะกอนจากที่สูงลงมาสะสมในที่ต่ำแผ่คล้ายรูปพัด

 

3. ธรณีสัณฐานที่เหลือตกค้างจากการกัดกร่อน

พบในที่ราบสูง หรือที่ราบระหว่างหุบเขาและเนินเขา พื้นที่มักจะเป็นลูกคลื่นลอนลาดหรือลูกคลื่นลอนชัน

 

4. ธรณีสัณฐานที่เป็นเนินลาวาและส่วนที่เหลืออยู่ของภูเขาไฟ

เกิดจากหินอัคนีแทรกขึ้นมาอยู่เป็นหย่อมๆ พบบริเวณขอบด้านใต้ของภาคอีสาน และบริเวณภาคตะวันออก

 

5. ธรณีสัณฐานแบบคาสต์

เกิดจากการละลายตัวของหินปูน ทำให้เกิดป่าหิน บางแห่งมีสะพานธรรมชาติ ถ้ำ และอุโมงค์ธรรมชาติ

 

6. ธรณีสัณฐานที่เป็นเขาและทิวเขา

พื้นที่ส่วนใหญ่จะปกคลุมด้วยป่าเพราะมีความลาดชันสูง ได้แก่ทิวเขาต่างๆ ในภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ