กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา ที่ทำให้ผิวโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นภูมิประเทศต่างๆ นอกจากการผุพังอยู่กับที่ หรือการกร่อนแล้ว ยังเกิดจากการกัดเซาะอีกด้วย การกัดเซาะนั้นทำให้เกิดลักษณะเฉพาะต่างๆ เช่น เนินตะกอนรูปพัด ดินดอนสามเหลี่ยม ทะเลสาบรูปแอก เป็นต้น
กระแสน้ำจะกัดเซาะเปลือกโลกให้สึกกร่อนพังทลายลงมา และพัดพาเอาชิ้นส่วนต่างๆ ที่หลุดออกมาให้เคลื่อนที่ไป และเกิดการสะสมทับถมดังนี้
1. การที่กระแสน้ำกัดเซาะบริเวณริมฝั่งคลอง แม่น้ำ ลำธารจนพังทลายไป เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เปลือกโลกมีการเปลี่ยนแปลงช้าๆโดยรูปร่างของแม่น้ำ ลำธารจะมีผลต่อการไหลของน้ำและการทับถมของตะกอน
- ในบริเวณที่แม่น้ำไหลเป็นเส้นตรง น้ำในบริเวณกึ่งกลางของแม่น้ำจะไหลได้เร็วกว่าบริเวณริมตลิ่ง การทับถมจึงเกิดขึ้นตามริมแม่น้ำ ซึ่งน้ำเคลื่อนตัวไปได้อย่างช้าๆ
- ในบริเวณที่เป็นทางเลี้ยวโค้งแม่น้ำ น้ำจะไหลเร็วตามทางโค้งด้านนอก เกิดการกัดเซาะของแม่น้ำเข้าไปยังริมตลิ่ง ส่วนตะกอนถูกทับถมในทางโค้งด้านในซึ่งเป็นบริเวณที่น้ำไหลช้า
จากรูป เมื่อกระแสน้ำพุ่งปะทะชายฝั่งซึ่งเป็นส่วนโค้งด้านนอก (1) ทำให้ส่วนโค้งนี้ถูกกัดเซาะจนพังทลาย และตะกอนถูกพัดพาไปโดยกระแสน้ำ ทำนองเดียวกับ (2), (3), (4) ซึ่งเป็นส่วนโค้งด้านนอกเหมือนกัน ก็ถูกกระแสน้ำที่พุ่งแรงกัดเซาะจนพังทลายได้ และตะกอนที่เกิดจากการกัดเซาะถูกกระแสน้ำพัดพาไป จนมาถึงบริเวณที่กระแสน้ำไหลอ่อนลง ตะกอนจึงตกทับถมและสะสมกัน
ดังนั้นบริเวณ (ก), (ข), (ค) จึงเป็นบริเวณที่กระแสน้ำพัดพาตะกอนมาสะสม จนเพิ่มพูนขึ้นเป็นแผ่นดิน ทำให้เกิดแผ่นดินยื่น หรือแผ่นดินงอกออกมา หรือกลายเป็นหาดทราย
2. การทับถมของตะกอนที่เกิดจากการกร่อนและพัดพาโดยกระแสน้ำ จะทำให้เกิดภูมิลักษณ์ต่างๆ ดังนี้
- เนินตะกอนรูปพัด (Alluvial Fan) เกิดจากกระแสน้ำไหลจากภูเขาลงสู่ที่ราบที่มีร่องน้ำกว้างกว่าเดิมมากๆ ทำให้ความเร็วของกระแสน้ำลดลง จนไม่สามารถพัดพาตะกอนไปได้ ตะกอนจะทับถมกันเป็นเนินตะกอนน้ำรูปพัด
- ดินดอนสามเหลี่ยม (Delta) เกิดจากกระแสน้ำบริเวณปากแม่น้ำที่ไหลลงสู่ทะเลไหลช้าลง ทำให้เกิดการทับถมของตะกอนที่บริเวณปากแม่น้ำ ลักษณะคล้ายรูปสามเหลี่ยม
- ทะเลรูปแอก (Oxbow Lake) เป็นบึงหรือทะเลสาบเกิดจากการที่ทางน้ำโค้งตวัด เปลี่ยนเส้นทางการไหลตามแนวโค้งเดิมเป็นตัดตรง ทำให้ลำน้ำโค้งเดิมถูกตัดขาดกลายเป็นทะเลสาบรูปแอก