สภาพการเคลื่อนที่ของวัตถุแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ สภาพการเคลื่อนที่คงเดิม ได้แก่ วัตถุหยุดนิ่ง และวัตถุมีความเร็วคงตัว สภาพการเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลง ได้แก่วัตถุที่มีความเร่ง
สภาพการเคลื่อนที่ของวัตถุแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1. สภาพการเคลื่อนที่คงเดิม หมายถึง อาการที่วัตถุอยู่นิ่งหรือมีความเร็วคงตัว เช่น นักเรียนคนหนึ่งยืนอยู่นิ่งๆ บนพื้น รถยนต์คันหนึ่งกำลังแล่นด้วยความเร็วคงตัว เป็นต้น
- ถ้าวัตถุหยุดนิ่งอยู่บนพื้นราบ แล้วไม่มีแรงภายนอกอื่นมากระทำต่อวัตถุ วัตถุจะยังคงหยุดนิ่งอยู่เช่นนั้น
- ถ้าวัตถุหยุดนิ่งอยู่บนพื้นราบ แล้วมีแรง 2 แรงมากระทำต่อวัตถุ โดยแรงทั้งสองมีขนาดเท่ากันและมีทิศทางตรงกันข้าม เป็นผลให้แรงลัพธ์เป็นศูนย์ วัตถุจะยังคงหยุดนิ่ง
- ถ้าวัตถุมีความเร็วคงตัว แล้วไม่มีแรงภายนอกมากระทำต่อวัตถุ วัตถุจะยังคงมีความเร็วคงตัว
- ถ้าวัตถุมีความเร็วคงตัว แล้วมีแรง 2 แรงมากระทำต่อวัตถุ โดยแรงทั้งสองมีขนาดเท่ากันและมีทิศทางตรงกันข้าม เป็นผลให้แรงลัพธ์เป็นศูนย์ วัตถุจะยังคงมีความเร็วคงตัว
สรุปได้ว่า ถ้าไม่มีแรงภายนอกมากระทำต่อวัตถุ หรือแรงลัพธ์ที่มากระทำมีค่าเป็นศูนย์ วัตถุจะไม่เปลี่ยนสภาพการเคลื่อนที่ (วัตถุหยุดนิ่งก็จะหยุดนิ่งต่อไป วัตถุกำลังเคลื่อนที่ก็จะเคลื่อนที่ต่อไปด้วยความเร็วคงตัว)
2. สภาพการเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลง หมายถึง อาการที่วัตถุมีการเคลื่อนที่ด้วยความเร่ง เช่น นักเรียนคนหนึ่งกำลังออกวิ่ง รถยนต์กำลังเบรกกะทันหัน เป็นต้น