แหล่งน้ำ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 50.7K views



น้ำถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของโลก เราสามารถใช้ประโยชน์จากน้ำได้จากแหล่งน้ำต่างๆ ทั้งจากน้ำผิวดิน เช่น แม่น้ำ ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ หรือน้ำใต้ดิน เช่น น้ำบาดาล เป็นต้น

ภาพ : shutterstock.com


จากการสำรวจพื้นผิวโลกทั้งหมด พบว่าพื้นที่ที่เป็นพื้นน้ำมีถึง 71% หรือประมาณ 3 ใน 4 ส่วนของพื้นผิวโลกทั้งหมด ซึ่งแบ่งเป็นน้ำในทะเลและมหาสมุทรถึง 97.6% อีก 2.4% เป็นน้ำจืด (เป็นน้ำในแม่น้ำ ทะเลสาบ 0.02% น้ำใต้ดิน 0.5% ธารน้ำแข็ง 1.9% และน้ำในบรรยากาศ 0.0001%) 

น้ำผิวดินที่เป็นน้ำจืดที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่างๆ ได้ จึงมีปริมาณน้อยมาก น้ำที่นำไปใช้ในการอุปโภคบริโภคเป็นน้ำจืดที่ได้มาจากแหล่งน้ำจืด 3 แหล่งใหญ่ ดังนี้


1. น้ำผิวดิน
เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์มากที่สุด ซึ่งมีทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม แหล่งน้ำจืดผิวดินที่สำคัญ ได้แก่ แม่น้ำ ลำคลอง น้ำตก ลำธาร ห้วย หนอง บึงต่างๆ ทะเล ทะเลสาบ มหาสมุทร

น้ำตก เป็นทางน้ำที่ไหลผ่านความลาดชันของภูเขาที่มีความแตกต่างกันไปหลายๆ แบบ ขึ้นกับชนิดของหินที่น้ำไหลผ่าน เช่น น้ำตกเอราวัณ เป็นน้ำตกที่ไหลผ่านภูเขาหินปูน

น้ำพุ เกิดจากน้ำบาดาลที่ไหลผ่านรอยแตก หรือรอยแยกของผิวโลกขึ้นมา

ธารน้ำ เกิดจากร่องน้ำเล็กๆ จำนวนมากที่ไหลประสานกันและเชื่อมกัน

แม่น้ำ เกิดจากธารน้ำที่ขยายตัวจนน้ำไหลมากขึ้น ตลิ่งถูกกัดเซาะอย่างต่อเนื่อง น้ำพัดพาตะกอนขนาดต่างๆ ไปกับกระแสน้ำ บางบริเวณกระแสน้ำไหลแรง จะทำให้เกิดทางน้ำคดโค้งไปมาเป็นทางน้ำโค้งตวัด และถูกตัดขาดออกจากทางน้ำเดิม ทำให้ร่องน้ำเปลี่ยนทางไหลไปจากเดิม พร้อมกับทิ้งร่องรอยการคดโค้งของธารน้ำไว้ เช่น ทะเลสาบรูปแอก

ลักษณะภูมิประเทศบริเวณปากแม่น้ำ เกิดจากการทับถมของตะกอนปากแม่น้ำ ที่ไหลผ่านลงทะเลหรือมหาสมุทร เมื่อตะกอนมีการทับถมแผ่ออกไปเป็นบริเวณกว้าง บริเวณนั้นจะกลายเป็น ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ซึ่งดินดอนสามเหลี่ยมแต่ละแห่งจะมีรูปร่างที่แตกต่างกันออกไป จำแนกได้ดังนี้


     - ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำรูปพัด เช่น ปากแม่น้ำไนล์ แม่น้ำคงคา แม่น้ำโขง แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น
     - ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำรูปยาว​
     - ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำรูปตีนกา เช่น ปากแม่น้ำตาปี แม่น้ำมิสซิสซิปปี เป็นต้น


2. น้ำใต้ดิน

     2.1) น้ำในดิน คือ น้ำที่เกิดจากการไหลซึมของน้ำฝน หรือน้ำจากผิวดินลงสู่ชั้นใต้ดินด้วยการซึมอยู่ในดินเหนือชั้นหิน ดินจะซับน้ำเอาไว้จนอิ่มตัว น้ำที่เกินจะซึมลงจนถึงชั้นหินที่กั้นน้ำส่วนใหญ่ไม่ให้ซึมผ่านลงไปได้ ดินเหนือชั้นหินจึงเต็มไปด้วยน้ำ น้ำที่อยู่ในดินนี้ เรียกว่า น้ำในดิน ระดับตอนบนสุดของน้ำเรียกว่า ระดับน้ำในดิน ซึ่งอยู่ลึกประมาณ 2-3 เมตร จากผิวดินลงไป น้ำในดินเป็นแหล่งน้ำที่พืชใช้ในการดำรงชีวิตและช่วยให้ดินชุ่มชื้น

     2.2) น้ำบาดาล เป็นแหล่งน้ำจืดที่มีปริมาณมากที่สุดบนโลก อยู่ใต้ผิวดินต่ำกว่าน้ำในดินลงไป น้ำบาดาลเกิดจากน้ำจากแหล่งต่างๆ บนผิวดินรวมทั้งน้ำฝน ที่ไหลซึมลงไปในระดับที่ลึกกว่าระดับน้ำในดิน โดยผ่านลงไปในช่องว่างของชั้นหิน แล้วขังอยู่ในช่องว่างนั้น ระดับตอนบนสุดของน้ำบาดาล เรียกว่า ระดับน้ำบาดาล หินที่เป็นแหล่งกักเก็บน้ำบาดาล เรียกว่า หินอุ้มน้ำ ซึ่งอยู่ในชั้นหินอุ้มน้ำที่ถูกรองรับด้วยชั้นหินกันน้ำทั้งด้านบนและด้านล่าง


3. น้ำในบรรยากาศ
เป็นน้ำที่อยู่ในชั้นบรรยากาศ มีทั้งสามสถานะ คือ ของแข็ง เช่น เมฆชั้นสูง ลูกเห็บ และหิมะ ของเหลว ได้แก่ละอองน้ำในเมฆชั้นกลางและเมฆชั้นต่ำ หมอก น้ำฝนและน้ำค้าง และในสถานะแก๊ส ได้แก่ ไอน้ำ