ปิโตรเลียม เป็นเชื้อเพลิงอีกชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญในชีวิตประจำวัน และในอุตสาหกรรมไทย ในประเทศไทยเองมีแหล่งปิโตรเลียมที่สำคัญหลายแห่ง ทั้งบนบกและในอ่าวไทย
ปิโตรเลียม (petroleum) เกิดจากการทับถมของสิ่งมีชีวิต ทั้งพืชและสัตว์ ในปริมาณมากมายมหาศาล ทับถมปะปนกันอยู่ในโคลนตมและหินทราย ต่อมาทั้งโคลนตมและหินทรายค่อยๆ เกิดการแข็งตัวกลายเป็นหินดินดาน ส่วนซากพืชซากสัตว์ที่ทับถมกันอยู่นับล้านๆ ปี จะถูกย่อยสลาย เมื่อโดนทั้งแรงกดดัน และความร้อนใต้พิภพ ทำให้กลายสภาพเป็นของเหลวหรือน้ำมัน แล้วไหลไปรวมกันอยู่ในบริเวณที่เป็นแอ่ง
เมื่อน้ำมันกระทบกับความร้อนใต้พิภพ จึงกลายเป็นแก๊ส ทั้งส่วนที่เป็นของเหลวและแก๊ส จะซึมออกจากชั้นหินตะกอนที่ให้กำเนิด ไปตามช่องแตก รอยแยก รอยเลื่อน และรูพรุนของหิน เช่น หินทราย หินกรวดมน หินปูน ไปสะสมตัวอยู่ใต้ชั้นหินเนื้อละเอียดที่ปิดกั้นด้านบน เพื่อไม่ให้ปิโตรเลียมรั่วไหลออกมา
ส่วนมากชั้นหินที่มีเนื้อละเอียดมักเป็นหินดินดาน และมักมีโครงสร้างรูปกระทะคว่ำ หรือรูปโดม จึงกักเก็บทั้งแก๊สและน้ำมันที่อยู่ในแอ่ง โดยจะจัดเป็นแหล่งปิโตรเลียมได้ ก็ต่อเมื่อมีปริมาณปิโตรเลียมมากพอที่จะลงทุนเพื่อนำขึ้นมาใช้งาน
แหล่งปิโตรเลียมที่สำคัญในประเทศไทย
1. บนบก ได้แก่ แหล่งสิริกิติ์ (สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร) แหล่งนาสนุ่นตะวันออก (เพชรบูรณ์) แหล่งฝาง (เชียงใหม่)
2. อ่าวไทย ได้แก่ แหล่งเอราวัณ แหล่งทานตะวัน แหล่งจัสมิน/บานเย็น แหล่งบัวหลวง แหล่งสงขลา แหล่งไพลิน แหล่งบงกช แหล่งอาทิตย์