ธรณีพิบัติภัย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 65.2K views



การที่จำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการใช้น้ำและทรัพยากรต่างๆ มากขึ้น ส่งผลให้เกิดธรณีพิบัติภัยต่างๆ ซึ่งมีสาเหตุมาจากทั้งทางธรรมชาติ และที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินถล่ม การกัดเซาะชายฝั่ง การทรุดตัวของแผ่นดิน

ภาพ : shutterstock.com

ธรณีพิบัติภัยจากน้ำใต้ดิน

1. การทรุดตัวของแผ่นดิน
การใช้ประโยชน์จากน้ำผิวดิน และน้ำบาดาลในปริมาณมากเกินไป โดยเฉพาะการสูบน้ำบาดาล จะมีผลกระทบต่อพื้นที่ดังกล่าว และพื้นที่ข้างเคียง ทำให้เกิดการทรุดตัวของแผ่นดิน ความรุนแรงของการทรุดตัวจะขึ้นกับอัตราการลดลงของระดับน้ำใต้ดิน หรือขึ้นกับอัตราการใช้น้ำบาดาล การทรุดตัวของแผ่นดินทำให้เกิดความเสียหายแก่สิ่งก่อสร้าง หรืออาคารบ้านเรือนจนเกิดการทรุดตัวลง และเกิดการแตกร้าวขึ้น

2. หลุมยุบ
เป็นธรณีพิบัติภัยที่เกิดจากน้ำใต้ดินตามธรรมชาติ แต่กิจกรรมของมนุษย์สามารถเร่งให้เกิดเร็วขึ้น มักเกิดในภูมิประเทศที่ใต้ผิวดินเป็นหินปูน หินโดโลไมต์ และหินอ่อน เมื่อหินเหล่านี้ละลายในน้ำใต้ดิน ทำให้เกิดโพรงหรือถ้ำใต้ดิน ถ้าเพดานถ้ำต้านทานน้ำหนักของดิน หรือสิ่งก่อสร้างที่กดทับไม่ไหว จะพังทลายเป็นหลุมยุบ หลุมยุบในประเทศไทยมักเกิดในพื้นที่ราบใกล้ภูเขาหินปูน ภายหลังการเกิดแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์

ภาพ : shutterstock.com


ธรณีพิบัติภัยจากน้ำผิวดิน

1. น้ำท่วม

    - น้ำท่วมขัง เกิดจากระบบระบายน้ำไม่มีประสิทธิภาพ หรือระบายน้ำไม่ทัน มักเกิดขึ้นในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำและบริเวณที่เป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่
    - น้ำท่วมฉับพลัน หรือน้ำป่า เกิดขึ้นเนื่องจากฝนตกหนักในบริเวณพื้นที่ซึ่งมีความชันมาก และมีคุณสมบัติในการกักเก็บน้ำน้อย เช่น บริเวณต้นน้ำที่มีความชันมาก พื้นที่ป่าที่ถูกทำลาย น้ำท่วมฉับพลันมักเกิดขึ้นหลังจากฝนตกหนักไม่เกิน 6 ชั่วโมง และมักเกิดขึ้นในบริเวณที่ราบระหว่างหุบเขา เนื่องจากน้ำท่วมฉับพลันมีความรุนแรง และเคลื่อนที่ด้วยความรวดเร็ว ความเสียหายจากน้ำท่วมฉับพลันจึงค่อนข้างรุนแรง มีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินมาก

2. แผ่นดินถล่ม
มักเกิดในบริเวณภูเขา โดยเฉพาะภูเขาหินแกรนิตที่มีความลาดชันสูงจนขาดความสมดุลในตัวเอง และบริเวณไหล่เขาที่ขาดพืชพันธุ์ปกคลุม เกิดจากฝนตกหนักในบริเวณดังกล่าว จนดินเกิดการอิ่มตัว และไม่สามารถอุ้มน้ำไว้ได้อีกต่อไป แผ่นดินถล่มที่ก่อให้เกิดความเสียหายส่วนใหญ่ มักเกิดภายหลังจากที่ฝนตกหนักมากบริเวณภูเขา ซึ่งเป็นต้นน้ำลำธาร

3. การกัดเซาะชายฝั่ง
เกิดจากพลังคลื่น ลม กระแสน้ำขึ้นน้ำลง ส่งผลกระทบต่อชายฝั่ง ทำให้เกิดการสึกกร่อนพังทลาย ทำให้ลักษณะชายฝั่งทะเลแตกต่างกันไป ซึ่งมักเป็นชายฝั่งทะเลน้ำลึก ชายฝั่งมีความลาดชันลงสู่ท้องทะเล ทำให้คลื่นลม กระแสน้ำ กัดเซาะชายฝั่งได้รุนแรง สาเหตุของการกัดเซาะชายฝั่งยังอาจเกิดจากการกระทำของมนุษย์ได้ด้วย เช่น การสร้างท่าเรือน้ำลึกเพื่อพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง การสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำบริเวณต้นน้ำ การสูบน้ำบาดาล การบุกรุกป่าชายเลนเพื่อใช้เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นต้น