ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดปฏิกิริยาเคมี
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 141.9K views



ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดปฏิกิริยาเคมีมีหลายปัจจัย เช่น ชนิดของสารตั้งต้น พื้นที่ผิวสัมผัสของสารตั้งต้น ตัวเร่งปฏิกิริยา เป็นต้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้อัตราการเกิดปฏิกิริยาเปลี่ยนแปลงไป

ภาพ : shutterstock.com

ปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นในธรรมชาติมีอยู่ตลอดเวลา แต่ละปฏิกิริยาเกิดในเวลาแตกต่างกัน เช่น การเกิดสนิมเหล็ก การเกิดหินงอกหินย้อย ใช้เวลานานมาก แต่การจุดไม้ขีดไฟ การจุดพลุ การใส่ยาเม็ดลดกรดลงในน้ำ เกิดปฏิกิริยาได้รวดเร็ว อัตราเร็วในการเกิดปฏิกิริยาขึ้นกับปัจจัยต่างๆ ปัจจัยที่มีผลต่ออัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี มีดังนี้

 

1. ชนิดของสารตั้งต้น
สารแต่ละชนิดมีสมบัติต่างกัน จึงมีความว่องไวต่อการเกิดปฏิกิริยาต่างกันด้วย เช่น แมกนีเซียมสามารถทำปฏิกิริยากับสารละลายกรด และเกิดเป็นแก๊สไฮโดรเจนได้อย่างรวดเร็ว แต่แมกนีเซียมจะทำปฏิกิริยากับออกซิเจนได้ช้า หรือโลหะโซเดียมทำปฏิกิริยากับน้ำเย็นได้เร็วมาก ขณะที่โลหะแมกนีเซียมจะทำปฏิกิริยากับน้ำเย็นได้ช้า แต่จะเกิดเร็วขึ้นเมื่อทำปฏิกิริยากับน้ำร้อน เป็นต้น

2. ความเข้มข้นของสารตั้งต้น
หากสารตั้งต้นมีความเข้มข้นมาก ปฏิกิริยาจะเกิดเร็ว เนื่องจากความเข้มข้นของสารที่มาก จะมีอนุภาคของสารอยู่รวมกันอย่างหนาแน่น อนุภาคของสารจึงมีโอกาสชนกัน แล้วเกิดปฏิกิริยาได้รวดเร็ว เช่น ปฏิกิริยาระหว่างโลหะกับกรด ถ้าใช้กรดที่มีความเข้มข้นสูงเป็นสารตั้งต้น จะทำให้โลหะถูกกัดกร่อนเร็ว

3. พื้นที่ผิวสัมผัสของสารที่เข้าทำปฏิกิริยา
พื้นที่ผิวของสารตั้งต้นจะมีผลต่อปฏิกิริยาเคมี ในลักษณะที่สารตั้งต้นชนิดหนึ่งมีสถานะเป็นของแข็ง กับสารอีกชนิดหนึ่งมีสถานะเป็นของเหลว เนื่องจากพื้นที่ผิวที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ของแข็งมีพื้นที่สัมผัสกับของเหลวมากขึ้น การเกิดปฏิกิริยาก็เร็วขึ้น เช่น การเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืนลงท้อง ซึ่งช่วยให้อาหารมีขนาดเล็กลง เป็นการเพิ่มพื้นที่ผิวสัมผัสของอาหาร ทำให้กรดและเอนไซม์ในน้ำย่อยของกระเพาะอาหารทำปฏิกิริยากับอาหารได้เร็วขึ้น

4. อุณหภูมิ
อัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมีจะเพิ่มขึ้นเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิที่สูง จะทำให้อะตอมหรือโมเลกุลของสารเคลื่อนที่ได้เร็วขึ้น ตัวอย่างเช่น การบ่มผลไม้ในภาชนะที่มีฝาปิด จะสุกเร็วกว่าผลไม้ที่ตั้งไว้ข้างนอก หรืออาหารที่ไม่ได้เก็บไว้ในตู้เย็น จะเน่าเสียได้ง่ายกว่าอาหารที่เก็บในตู้เย็น เนื่องจากในตู้เย็นมีอุณหภูมิต่ำ จึงช่วยชะลอการเกิดปฏิกิริยาเคมีในอาหารได้ ทำให้เน่าเสียช้าลง

5. ความดัน
ความดันมีผลกับการเกิดปฏิกิริยาเคมีของสารตั้งต้นที่เป็นแก๊ส กล่าวคือ เมื่อความดันในระบบเพิ่มขึ้น อนุภาคของแก๊สจะถูกบีบให้อยู่ใกล้กันมากขึ้น การเคลื่อนที่ชนกันจึงเกิดมากขึ้นด้วย ปฏิกิริยาเคมีจึงเกิดได้ไวขึ้นนั่นเอง

6. ตัวหน่วงปฏิกิริยา
ตัวหน่วงปฏิกิริยา คือสารที่เติมลงไปในปฏิกิริยาแล้วทำให้ปฏิกิริยาเกิดช้าลง หรือมีผลยับยั้งปฏิกิริยา และเมื่อสิ้นสุดปฏิกิริยา ตัวหน่วงปฏิกิริยายังคงมีสมบัติทางเคมีเหมือนเดิม และมีปริมาณเท่าเดิม เช่น การเติมวิตามินอีในน้ำมันพืชเพื่อป้องกันการเหม็นหืน หรือการยับยั้งการเน่าเสียของอาหารด้วยการใส่สารกันบูด

7. ตัวเร่งปฏิกิริยา
ตัวเร่งปฏิกิริยา คือ สารที่เติมลงไปในปฏิกิริยาแล้วทำให้เกิดปฏิกิริยาได้เร็วขึ้น โดยที่ตัวเร่งปฏิกิริยาอาจจะมีส่วนร่วมในการเกิดปฏิกิริยา หรือไม่ก็ได้ แต่เมื่อสิ้นสุดปฏิกิริยาแล้ว ตัวเร่งปฏิกิริยาเหล่านี้ยังคงมีปริมาณเท่าเดิม และมีสมบัติเหมือนเดิม ตัวเร่งปฏิกิริยาที่พบได้ทั่วไป คือ เอนไซม์อะไมเลสในน้ำลายที่ช่วยย่อยแป้ง เอนไซม์เพปซินในกระเพาะอาหารที่ช่วยย่อยโปรตีน เอนไซม์ไซเมสจากยีสต์ที่ใช้ในกระบวนการเปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสให้กลายเป็นเอทานอล และแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์