ธาตุต่างๆ ในโลกนี้ ถูกจำแนกเป็นธาตุโลหะ ธาตุอโลหะ และธาตุกึ่งโลหะ โดยจำแนกจากสมบัติเฉพาะตัวที่เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกัน ทั้งทางเคมีและทางกายภาพ
ในภาวะปกติ ธาตุบางชนิดดำรงอยู่ในสถานะของแข็ง บางชนิดเป็นของเหลว และบางชนิดเป็นแก๊ส เราสามารถแบ่งสมบัติของธาตุทั้งหมดออกได้เป็น 3 พวกใหญ่ๆ คือ โลหะ อโลหะ และกึ่งโลหะ
การที่เราจำแนกธาตุทั้งหลายออกเป็นโลหะ กับอโลหะนั้น ก็เนื่องจากธาตุต่างๆ มีสมบัติเฉพาะตัวแตกต่างกัน แต่ก็มีสมบัติบางประการเหมือนกันหรือคล้ายกัน ซึ่งพอจะแยกออกเป็นสามพวกได้ดังนี้
1. โลหะ (metal) เป็นกลุ่มธาตุที่มีสมบัติเป็นตัวนำไฟฟ้าได้ นำความร้อนที่ดี เหนียว มีจุดเดือดสูง ปกติเป็นของแข็งที่อุณหภูมิห้อง (ยกเว้น ปรอท) เช่น แคลเซียม อะลูมิเนียม เหล็ก ทองแดง เป็นต้น
สมบัติของโลหะ มีดังนี้
- ส่วนมากอยู่ในสถานะของแข็งยกเว้น ปรอท เป็นของเหลว ณ อุณหภูมิปกติ
- ขัดเป็นมันวาว
- ส่วนมากมีจุดหลอมเหลวและจุดเดือดสูง
- นำความร้อนและไฟฟ้าได้ดี แต่เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้นโลหะจะนำไฟฟ้าได้น้อยลง
- ส่วนใหญ่มีความหนาแน่นสูง
- เหนียว ดึงเป็นเส้นหรือตีแผ่เป็นแผ่นได้
- เคาะเสียงดังกังวาน
- มีความโน้มเอียงที่จะเสียอิเล็กตรอนเมื่อรวมตัวกับอโลหะ
- ส่วนใหญ่ทำปฏิกิริยากับสารละลายกรดได้แก๊สไฮโดรเจน
- เมื่อทำปฏิกิริยากับแก๊สออกซิเจนได้สารประกอบออกไซด์ที่ละลายน้ำแล้วมีสมบัติเป็นเบส
2. อโลหะ (non-metal) เป็นกลุ่มธาตุที่มีสมบัติไม่นำไฟฟ้า มีจุดหลอมเหลวและจุดเดือดต่ำ เปราะบาง และมีการแปรผันทางด้านคุณสมบัติทางกายภาพมากกว่าโลหะ เช่น ออกซิเจน กำมะถัน ฟอสฟอรัส เป็นต้น
สมบัติของอโลหะ มีดังนี้
- มีทั้งสถานะของแข็ง ของเหลว และแก๊ส ณ อุณหภูมิปกติ
- ขัดไม่เป็นมันวาว
- ส่วนมากมีจุดหลอมเหลวและจุดเดือดต่ำ
- เป็นฉนวนไฟฟ้า ยกเว้นแกรไฟต์
- มีความหนาแน่นต่ำ
- เปราะ ดึงเป็นเส้นหรือตีแผ่เป็นแผ่นไม่ได้
- เคาะไม่มีเสียงดังกังวาน
- มีความโน้มเอียงที่จะรับอิเล็กตรอนเมื่อรวมตัวกับโลหะ
- ไม่ทำปฏิกิริยากับสารละลายกรด
- เมื่อรวมตัวกับแก๊สออกซิเจนจะได้สารประกอบออกไซด์ที่ละลายน้ำแล้วมีสมบัติเป็นกรด
3. กึ่งโลหะ (metalloid) เป็นกลุ่มธาตุที่มีสมบัติก้ำกึ่งระหว่างโลหะ และอโลหะ เช่น ธาตุซิลิคอน และเจอเมเนียม มีสมบัติบางประการคล้ายโลหะ เช่น นำไฟฟ้าได้บ้างที่อุณหภูมิปกติ และนำไฟฟ้าได้มากขึ้นเมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น เป็นของแข็ง เป็นมันวาวสีเงิน จุดเดือดสูง แต่เปราะแตกง่ายคล้ายอโลหะ