สารเนื้อผสมบางครั้งสามารถแยกได้ด้วยตาเปล่าโดยการหยิบออก แต่ส่วนใหญ่แล้วจำเป็นต้องใช้วิธีอื่นๆ เช่น การกรอง การใช้กรวยแยก การระเหิด หรือการตกตะกอน เป็นต้น ทั้งนี้การแยกสารเนื้อผสมในวิธีต่างๆ มีความเหมาะสมกับสารไม่เหมือนกัน
การแยกสาร หมายถึงการแยกสารที่ผสมกันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปออกจากกัน เพื่อนำสารที่ได้นั้นไปใช้ประโยชน์ตามต้องการ ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น การแยกสารเนื้อผสม และการแยกสารเนื้อเดียว
สารเนื้อผสม หมายถึง สารที่มีลักษณะของเนื้อสารไม่ผสมกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน เกิดจากสารอย่างน้อย 2 ชนิดขึ้นไปมาผสมกันโดยเนื้อสารจะแยกกันเป็นส่วนๆ การแยกสารเนื้อผสมอาจใช้วิธีการต่างๆ เช่น การกรอง การใช้กรวยแยก การใช้อำนาจแม่เหล็ก การระเหิด การระเหยจนแห้ง ซึ่งเป็นการแยกสารโดยวิธีทางกายภาพทั้งสิ้น และสารที่แยกได้จะมีสมบัติเหมือนเดิม
1. การกรอง เป็นวิธีการแยกสารออกจากกันระหว่างของแข็งกับของเหลว หรือใช้แยกสารแขวนลอยออกจากน้ำ ซึ่งใช้กันมากในทางเคมี โดยเฉพาะในห้องปฏิบัติการที่กรองสารในปริมาณน้อยๆ การกรองนั้นจะต้องเทสารผ่านกระดาษกรอง อนุภาคของแข็งที่ลอดผ่านรูกระดาษกรองไม่ได้จะอยู่บนกระดาษกรอง ส่วนน้ำและสารที่ละลายน้ำได้จะผ่านกระดาษกรองลงสู่ภาชนะ
2. การใช้กรวยแยก เป็นวิธีที่ใช้แยกสารเนื้อผสมที่เป็นของเหลว 2 ชนิดที่ไม่ละลายออกจากกัน โดยของเหลวทั้งสองนั้นแยกเป็นชั้นเห็นได้ชัดเจน เช่น น้ำกับน้ำมัน เป็นต้น การแยกโดยวิธีนี้จะนำของเหลวใส่ในกรวยแยก แล้วไขของเหลวที่อยู่ในชั้นล่าง ซึ่งมีความหนาแน่นมากกว่าชั้นบน ออกสู่ภาชนะจนหมด แล้วจึงค่อยๆ ไขของเหลวที่เหลือใส่ภาชนะใหม่
3. การใช้อำนาจแม่เหล็ก เป็นวิธีที่ใช้แยกองค์ประกอบของสารเนื้อผสม ซึ่งองค์ประกอบหนึ่งมีสมบัติในการถูกแม่เหล็กดูดได้ เช่น ของผสมระหว่างผงเหล็กกับผงกำมะถัน โดยใช้แม่เหล็กถูไปมาบนแผ่นกระดาษที่วางทับของผสมทั้งสอง แม่เหล็กจะดูดผงเหล็กแยกออกมา
4. การระเหิด คือ ปรากฏการณ์ที่สารเปลี่ยนสถานะจากของแข็งกลายเป็นแก๊สหรือไอ โดยไม่เปลี่ยนสถานะเป็นของเหลวก่อน ใช้แยกสารเนื้อผสมที่เป็นของแข็งออกจากกัน โดยของแข็งชนิดหนึ่งมีสมบัติระเหิดได้ เช่น ลูกเหม็น พิมเสน น้ำแข็งแห้ง การบูรกับเกลือแกง เมื่อให้ความร้อน การบูรจะกลายเป็นไอแยกออกจากเกลือแกง ดักไอของการบูรด้วยภาชนะที่เย็นจะได้การบูรเป็นของแข็งแยกออกมา
5. การใช้มือหยิบออกหรือเขี่ยออก ใช้แยกของผสมเนื้อผสม ที่ของผสมมีขนาดโตพอที่จะหยิบออกหรือเขี่ยออกได้ เช่น ข้าวสารที่มีเมล็ดข้าวเปลือกปนอยู่
6. การตกตะกอน ใช้แยกของผสมเนื้อผสมที่เป็นของแข็งแขวนลอยอยู่ในของเหลว ทำได้โดยนำของผสมนั้นวางทิ้งไว้ให้สารแขวนลอยค่อยๆ ตกตะกอนนอนก้น ในกรณีที่ตะกอนเบามาก ถ้าต้องการให้ตกตะกอนเร็วขึ้น อาจทำได้โดย ใช้สารตัวกลางให้อนุภาคของตะกอนมาเกาะ เมื่อมีมวลมากขึ้น น้ำหนักจะมากขึ้นจะตกตะกอนได้เร็วขึ้น เช่น ใช้สารส้มแกว่ง อนุภาคของสารส้มจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้โมเลกุลของสารที่ต้องการตกตะกอนมาเกาะ ตะกอนจะตกเร็วขึ้น
7. การหลอมเหลว เช่น ผงทรายปนผงตะกั่ว เมื่อนำไปหลอม ตะกั่วจะหลอมเหลวจมลงข้างล่าง ทรายลอยอยู่ข้างบน เมื่อตะกั่วแข็งตัวสามารถเขี่ยแยกออกจากผงทรายได้
8. การใช้เครื่องหมุนเหวี่ยง แรงหนีศูนย์กลางทำให้ของแข็งแยกออกจากของเหลวได้