เซลล์ คือ หน่วยที่เล็กที่สุดของสิ่งมีชีวิตในทางชีววิทยา ภายในเซลล์ประกอบไปด้วยโครงสร้างและอวัยวะต่างๆ ที่ทำหน้าที่แตกต่างกัน ในบทเรียนนี้ จะได้ศึกษาถึงส่วนประกอบของเซลล์ที่น่าสนใจ ได้แก่ นิวเคลียส, ไซโทพลาซึม, ไรโบโซม, ไลโซโซม, แวคิวโอล, กอลจิบอดี, ไมโทคอนเดรีย เป็นต้น
เซลล์ของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ มีส่วนประกอบสำคัญ ดังนี้
1. นิวเคลียส (nucleus) มีรูปร่างค่อนข้างกลม ในนิวเคลียสมีสารที่ควบคุมลักษณะทางพันธุกรรม นิวเคลียสทำหน้าที่ควบคุมการทำงานหรือกิจกรรมต่างๆ ของเซลล์
2. ไซโทพลาซึม (cytoplasm) เป็นสารกึ่งเหลว ประกอบด้วยส่วนที่สำคัญ 2 ส่วน ได้แก่
2.1) ออร์แกเนลล์ (organelle) เป็นโครงสร้างขนาดเล็กที่ทำหน้าที่เฉพาะต่างๆ มีหลายชนิด มีถุงบรรจุสารต่างๆ เช่น น้ำตาล กรดอะมิโน สารพิษต่างๆ
- เอนโดพลาสมิกเรติคูลัม (endoplasmic reticulum) ลักษณะเป็นท่อแบนใหญ่ บางบริเวณโป่งออกเป็นถุง เรียงขนาน ซ้อนกันเป็นชั้นๆ ภายในมีของเหลวบรรจุอยู่ มีท่อเชื่อมถึงกันเป็นร่างแห อยู่ล้อมรอบนิวเคลียส และเชื่อมกับเยื่อหุ้มนิวเคลียส ทำหน้าที่เป็นโรงงานผลิตและลำเลียงสารในเซลล์
- ไรโบโซม (ribosome) มีขนาดเล็ก ไม่มีเยื่อหุ้ม รูปร่างเป็นก้อน ทำหน้าที่สังเคราะห์โปรตีน จึงเป็นแหล่งสร้างโปรตีน
- กอลจิบอดี (golgi bodies) เป็นถุงกลมแบนขนาดใหญ่ ตรงขอบโป่งพองใหญ่ขึ้น ทำหน้าที่เป็นแหล่งรวบรวมบรรจุและขนส่งสาร
- ไลโซโซม (lysosome) มีลักษณะเป็นวงกลม มีเยื่อหุ้มชั้นเดียวไม่พบในเซลล์พืช พบในเซลล์สัตว์เกือบทุกชนิด ในไลโซโซมมีเอนไซม์สำหรับย่อยอาหาร ในสัตว์มีกระดูกสันหลัง ไลโซโซมจะมีเอนไซม์ทำลายสิ่งแปลกปลอม ไลโซโซมจึงทำหน้าที่เป็นผู้ขนส่งเอนไซม์
- แวคิวโอล (vacuole) เป็นถุงที่มีเยื่อหุ้ม มีหลายชนิด เช่น คอนแทร็กไทล์แวคิวโอลทำหน้าที่รักษาสมดุลของน้ำ ฟู้ดแวคิวโอลทำหน้าที่บรรจุอาหารที่รับมาจากนอกเซลล์ แซบแวคิวโอลพบในเซลล์พืช แวคิวโอลทำหน้าที่สะสมสารบางชนิด จึงทำหน้าที่ถุงบรรจุสาร
- ไมโทคอนเดรีย (mitochondria) เป็นแหล่งผลิตสารที่ให้พลังงานสูงแก่เซลล์ จึงเป็นแหล่งพลังงานในเซลล์
- พลาสติด (plastid) เป็นเม็ดสีในเซลล์มี 3 ชนิด ได้แก่ คลอโรพลาสต์ มีสีเขียวเนื่องจากมีคลอโรฟิลล์ โครโมพลาสต์ มีสารที่ทำให้เกิดสีต่างๆ ยกเว้นสีเขียว ลิวโคพลาสต์ ไม่มีสี ทำหน้าที่สะสมเม็ดแป้งที่ได้จากการสังเคราะห์ด้วยแสง
- เซนทริโอล (centriole) พบในเซลล์สัตว์และสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว ทำให้โครมาทิดแยกออกจากกันขณะเซลล์แบ่งตัว
- ไซโทสเกเลตอน (cytoskeleton) เป็นเส้นใยโปรตีนที่เชื่อมโยงกันเป็นร่างแห เพื่อค้ำจุนรูปร่างของเซลล์และเป็นที่ยึดเกาะของออร์แกเนลล์
2.2) ไซโทซอล (cytosol) มีลักษณะเป็นสารกึ่งเหลว มีอยู่ปริมาณร้อยละ 50-60 ของปริมาตรเซลล์ทั้งหมด ในไซโทซอลอาจพบโครงสร้างอื่นๆ เช่น ก้อนไขมัน เม็ดสีต่างๆ
3. เยื่อหุ้มเซลล์ (cell membrane) เป็นเยื่อบางๆ ล้อมรอบไซโทพลาซึม จึงกั้นสารที่อยู่ภายในกับภายนอกเซลล์ และรักษาสมดุลของสารภายในเซลล์ โดยควบคุมการผ่านเข้าออกของสารระหว่างเซลล์ กับสิ่งแวดล้อมภายนอก มีสมบัติเป็นเยื่อเลือกผ่าน ประกอบด้วยฟอสโฟลิพิดเรียงตัวเป็น 2 ชั้น มีโปรตีนแทรกอยู่
นอกจากรูปร่างแล้ว เซลล์พืชแตกต่างจากเซลล์สัตว์ตรงที่ เซลล์พืชมีผนังเซลล์ มีแวคิวโอลขนาดใหญ่ และมีคลอโรพลาสต์