การสังเคราะห์ด้วยแสง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 83.3K views



พืชสามารถสร้างอาหารด้วยตัวเองได้ เนื่องจากพืชมีคลอโรฟิลด์ โดยกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการสังเคราะห์ด้วยแสงที่แตกต่างกัน จะส่งผลให้เกิดปริมาณของอาหารที่แตกต่างกันอีกด้วย

ภาพ : shutterstock.com

พืชสร้างอาหารได้เองโดยใช้น้ำและแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เป็นวัตถุดิบ และใช้คลอโรฟิลล์ดูดพลังงานจากแสง อาหารที่พืชสร้าง ได้แก่ น้ำตาล และแป้ง และยังได้แก๊สออกซิเจนและน้ำเกิดขึ้นด้วย กระบวนการสร้างอาหารเองของพืช เรียกว่า การสังเคราะห์ด้วยแสง ปฏิกิริยาสังเคราะห์ด้วยแสงมีดังนี้

 

 

น้ำ + แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ + คลอโรฟิลล์/แสงสว่าง => กลูโคส + แก๊สออกซิเจน + น้ำ

H2O + CO2 + คลอโรฟิลล์/แสงสว่าง => C6H12O6 + O2 + H2O

 

ผลผลิตจากการสังเคราะห์ด้วยแสง จะได้น้ำตาลกลูโคส ออกซิเจน และน้ำ สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ใช้แก๊สออกซิเจนในการหายใจ เพื่อสลายสารอาหารให้ได้พลังงาน และได้แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นของเสียเกิดขึ้น ซึ่งปล่อยออกสู่บรรยากาศ แต่พืชสามารถใช้แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ไปสร้างอาหาร แล้วปล่อยแก๊สออกซิเจนออกสู่บรรยากาศได้ เพื่อให้สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ใช้ในการหายใจ พืชจึงเป็นผู้ทำให้แก๊สออกซิเจน และแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์หมุนเวียนกันจนเป็นวัฏจักร

 

ปัจจัยที่มีผลต่ออัตราการสังเคราะห์ด้วยแสง

1. แสงและความเข้มแสง
เมื่อปัจจัยอื่นๆ เหมาะสม ถ้าความเข้มของแสงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อัตราการสังเคราะห์ด้วยแสงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับหนึ่งที่ความเข้มของแสงมากขึ้นก็ไม่ทำให้อัตราการสังเคราะห์ด้วยแสงเพิ่มขึ้น

2. อุณหภูมิ​
เมื่ออุณหภูมิอยู่ในช่วง 0-35 องศาเซลเซียส หรือ 0-40 องศาเซลเซียส อัตราการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืชส่วนใหญ่จะมากขึ้น แต่ถ้าอุณหภูมิสูงกว่านี้อัตราการสังเคราะห์ด้วยแสงจะลดลง

3. แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์
ถ้าความเข้มแสงคงที่ เมื่อความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น อัตราการสังเคราะห์ด้วยแสงจะเพิ่มขึ้นในช่วงหนึ่ง หลังจากนั้นแม้ว่าความเข้มข้นของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จะเพิ่มขึ้นอีก อัตราการสังเคราะห์ด้วยแสงก็จะยังคงที่

4. น้ำ
เมื่อพืชขาดน้ำไป ปากใบจะปิด แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จะแพร่เข้าไปสู่เซลล์ที่ทำการสังเคราะห์ด้วยแสงไม่ได้ ทำให้อัตราการสังเคราะห์ด้วยแสงลดลง

 

พืชใช้ประโยชน์จากกลูโคสที่ได้จากการสังเคราะห์ด้วยแสงดังนี้

- เปลี่ยนเป็นแป้งสะสมไว้ในส่วนต่างๆ ของพืช
- การสันดาปกับออกซิเจนในกระบวนการหายใจเกิดพลังงานที่ใช้ขับเคลื่อนปฏิกิริยาเคมีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพืช
- เปลี่ยนเป็นเซลลูโลส ใช้สร้างผนังเซลล์ที่เกิดจากการแบ่งเซลล์ในระหว่างที่มีการเจริญเติบโต
- การลำเลียงน้ำและอาหารของพืช