มลพิษทางอากาศ หมายถึง ภาวะที่อากาศมีสิ่งแปลกปลอมที่เป็นพิษ ปะปนอยู่ในปริมาณที่อาจเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและทรัพย์สิน สิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นได้แก่ แก๊สพิษต่างๆ เช่น แก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ แก๊สไนโตรเจนไดออกไซด์ เป็นต้น แก๊สเหล่านี้ยังมีผลทำให้เกิดฝนกรดอีกด้วย
แก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2)
เป็นแก๊สไม่มีสี มีกลิ่นฉุน เป็นแก๊สพิษ ในธรรมชาติเกิดจากภูเขาไฟระเบิด และการเน่าเปื่อยของสิ่งมีชีวิต และจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้ถ่านหินและน้ำมันเชื้อเพลิง การถลุงแร่โลหะที่เป็นสารประกอบของกำมะถัน แก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์มีผลต่อร่างกายดังนี้
- ถ้าร่างกายได้รับในปริมาณน้อย จะทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยเรื้อรัง เป็นโรคโลหิตจาง
- ถ้าร่างกายได้รับในปริมาณมาก จะเป็นอันตรายต่อปอด ทำให้ปอดอักเสบ หลอดลมตีบตัน
แก๊สไนโตรเจนมอนอกไซด์ (NO)
หรือไนทริกออกไซด์ เป็นแก๊สไม่มีสี ละลายน้ำได้เล็กน้อย ส่วนแก๊สไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) เป็นแก๊สสีน้ำตาลแกมเหลือง เป็นพิษอย่างแรง มีกลิ่นฉุน ทั้งสองถือเป็นออกไซด์ของไนโตรเจนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และจากการกระทำของมนุษย์ เช่น ไนโตรเจนมอนอกไซด์เกิดขึ้นได้เองจากฟ้าผ่า หรือจากปฏิกิริยาการสันดาปของเชื้อเพลิง หรือสารที่มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบ
ออกไซด์ของไนโตรเจนมีผลต่อร่างกายคือ ทำให้หายใจไม่ออก ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองตาและระบบทางเดินหายใจ
แก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และออกไซด์ของไนโตรเจน ล้วนเป็นสารที่ทำให้เกิดฝนกรด ซึ่งฝนกรดนั้นทำให้เกิดความเสียหาย ดังนี้
1. ทำให้อาคารและรูปปั้นต่างๆ ทั่วโลกเสียหายนับเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท
2. ฝนกรดเป็นพิษต่อพืช จึงทำลายพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ป่า
3. ฝนกรดเป็นพิษต่อสัตว์น้ำ จึงทำลายสัตว์น้ำไปแล้วเป็นจำนวนมหาศาล
การป้องกันการเกิดฝนกรด
1. กำจัดกำมะถันออกจากเชื้อเพลิงก่อนนำเชื้อเพลิงไปเผาไหม้ แต่อาจทำได้ยาก และเสียค่าใช้จ่ายสูง
2. กำจัดแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง เช่น ฉีดผงหินปูนลงในเตาเผาพร้อมๆ กับถ่านหินที่อุณหภูมิสูง หินปูนจะสลายตัวให้ปูนดิบ ปูนดิบจะทำปฏิกิริยากับแก๊สซัลเฟอร์ไดดออกไซด์ที่เกิดขึ้น กลายเป็นแคลเซียมซัลไฟต์และแคลเซียมซัลเฟต ถ้ามีแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์เหลืออยู่ ก็กำจัดโดยฉีดสารแขวนลอยของปูนดิบในน้ำลงไปทำปฏิกิริยาในห้อง ก่อนที่จะปล่อยแก๊สออกทางปล่องควัน