เราสามารถคาดเดาสภาพลมฟ้าอากาศก่อนออกจากบ้านในแต่ละวันได้ ด้วยการติดตามการพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ในการพยากรณ์นั้น จะมีการอธิบายถึงลักษณะต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในแผนที่อากาศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงลมฟ้าอากาศของพื้นที่นั้นๆ
การพยากรณ์อากาศ คือ การคาดหมายสภาวะของลมฟ้าอากาศในอนาคต รวมทั้งปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาข้างหน้า ตัวอย่างเช่น การคาดหมายลมฟ้าอากาศใน 24 ชั่วโมงข้างหน้าจะมีลักษณะอย่างไร อาทิ จะมีฝนหรือฝนฟ้าคะนองหรือไม่ ลมจะพัดทิศทางใด ด้วยความเร็วขนาดไหน เป็นต้น
การพยากรณ์อากาศแบ่งตามระยะเวลาที่คาดหมายได้ดังนี้
1. การพยากรณ์ปัจจุบัน
2. การพยากรณ์ระยะสั้นมาก คือ การพยากรณ์สำหรับช่วงเวลาไม่เกิน 12 ชั่วโมง
3. การพยากรณ์ระยะสั้น คือ การพยากรณ์สำหรับระยะเวลาเกินกว่า 12 ชั่วโมงขึ้นไปจนถึง 3 วัน
4. การพยากรณ์อากาศระยะปานกลาง คือ การพยากรณ์อากาศสำหรับช่วงเวลาที่เกินกว่า 3 วันขึ้นไปจนถึง 10 วัน
5. การพยากรณ์ระยะยาว คือ การพยากรณ์สำหรับช่วงเวลาระหว่าง 10 ถึง 30 วัน
6. การพยากรณ์ระยะนาน คือ การพยากรณ์ตั้งแต่ 30 วันจนถึง 2 ปี ซึ่งยังแบ่งย่อยออกเป็นอีก 3 ชนิด ได้แก่ การคาดหมายรายเดือน การคาดหมายราย 3 เดือน และการคาดหมายรายฤดู
7. การพยากรณ์ภูมิอากาศ คือ การพยากรณ์สำหรับช่วงเวลามากกว่า 2 ปีขึ้นไป โดยแบ่งเป็น
7.1) การพยากรณ์การแปรผันของภูมิอากาศ คือ การพยากรณ์ค่าเฉลี่ยของฤดูนั้นว่าจะแตกต่างไปจากค่าเฉลี่ยทางภูมิอากาศอย่างไร
7.2) การพยากรณ์ภูมิอากาศ คือ การพยากรณ์สภาพภูมิอากาศในอนาคต โดยพิจารณาทั้งสาเหตุจากธรรมชาติและจากการกระทำของมนุษย์
การพยากรณ์อากาศมีขั้นตอน ดังนี้
1. การตรวจอากาศ
2. การทำแผนที่อากาศ
3. การทำคำพยากรณ์อากาศ
แผนที่อากาศ คือ แผนที่ที่แสดงองค์ประกอบทางอุตุนิยมวิทยา ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง โดยการบันทึกผลการตรวจอากาศลงบนแผนที่ด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ ทางอุตุนิยมวิทยา เช่น
- H ในแผนที่อากาศ คือ ศูนย์กลางของบริเวณความดันอากาศสูง
- L ในแผนที่อากาศ คือ ศูนย์กลางของบริเวณความดันอากาศต่ำ
- เส้นที่ลากในแผนที่อากาศ เป็นเส้นแสดงความดันอากาศ ทุกๆ บริเวณที่อยู่บนเส้นเดียวกันจะมีความดันอากาศเท่ากัน ในขณะที่ตรวจวัดความดันอากาศ
- เส้นไอโซบาร์ เป็นเส้นที่มีความดันอากาศเท่ากัน ซึ่งจะไม่ตัดกันหรือสัมผัสกัน
อุตุนิยมวิทยามีประโยชน์ในด้านต่างๆ ดังนี้
1. ชีวิตประจำวัน เช่น รู้ล่วงหน้าว่าพรุ่งนี้ฝนจะตกก็นำร่มติดตัวไปด้วย
2. ด้านกสิกรรม เช่น คัดเลือกพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ให้เหมาะกับสภาพอากาศในท้องถิ่นนั้นๆ
3. ด้านวิศวกรรม เช่น การออกแบบและก่อสร้างอาคารให้สอดคล้องกับสภาพไหลเวียนของอากาศในบริเวณนั้นๆ
4. ด้านการขนส่ง เช่น ช่วยในการกำหนดเส้นทางเดินเรือและเส้นทางของเครื่องบิน หลีกเลี่ยงบริเวณที่อากาศแปรปรวน