บรรยากาศ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 17.3K views



รอบ ๆ ตัวเรามีอากาศอยู่ทั้งสิ้น เช่นเดียวกับรอบ ๆ โลกของเราก็มีชั้นบรรยากาศล้อมรอบอยู่ แก๊สออกซิเจน ไอน้ำ ฝุ่นละออง ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนประกอบของบรรยากาศ บรรยากาศยังมีประโยชน์ที่สำคัญมากมายต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกของเรา

ภาพ : shutterstock.com

บรรยากาศ (atmosphere) คือ อากาศที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา และรวมถึงที่ห่อหุ้มโลกด้วย โดยมีความหนาจากผิวโลกตั้งแต่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นไปประมาณ 600 กิโลเมตร บรรยากาศของโลกประกอบด้วยแก๊สต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งไอน้ำที่มีอยู่เพียง 0.2-4% ของอากาศทั้งหมด ซึ่งไอน้ำดังกล่าวมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศ

 

 

ส่วนประกอบของบรรยากาศ

บรรยากาศที่ห่อหุ้มโลกประกอบไปด้วย แก๊สไนโตรเจน  78.08% แก๊สออกซิเจน 20.95% แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ 0.033% และแก๊สอื่น ๆ ได้แก่ แก๊สอาร์กอน แก๊สนีออน แก๊สฮีเลียม แก๊สมีเทน คริปตอน ซีนอน ไนตรัสออกไซด์ โอโซน ไอน้ำ แก๊สไฮโดรเจน รวมทั้งหมดประมาณ 0.94% นอกจากนี้ ในอากาศยังมีฝุ่นละออง และอนุภาคต่าง ๆ ปะปนอยู่มาก ถ้าส่วนประกอบต่าง ๆ ของแก๊สในบรรยากาศเปลี่ยนแปลงไป ก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนโลกทันที

 

ฝุ่นละออง จัดเป็นอนุภาคที่มีขนาดเล็กมากลอยปะปนอยู่ในอากาศ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

- ฝุ่นละอองจากธรรมชาติ เช่น ภูเขาไฟระเบิด ไฟป่า เป็นต้น
- ฝุ่นละอองจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม การเผาไหม้เชื้อเพลิง เป็นต้น

 

หน้าที่และประโยชน์ของบรรยากาศ

1. ปรับอุณหภูมิของโลกให้เหมาะกับการดำรงชีวิต

ในตอนกลางวัน ชั้นบรรยากาศจะดูดกลืนรังสี และพลังงานความร้อนบางส่วนจากดวงอาทิตย์เอาไว้ โลกจึงมีอุณหถูมิที่ไม่สูงมาก เมื่อถึงเวลากลางคืน ชั้นบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลกไว้จะช่วยให้โลกอุ่นขึ้น ถ้าไม่มีชั้นบรรยากาศ โลกจะมีอุณหภูมิสูงถึง 110 องศาเซลเซียส ในตอนกลางวัน และมีอุณหภูมิต่ำถึง -180 องศาเซลเซียสในตอนกลางคืน อุณหภูมิที่แตกต่างกันอย่างมากในระดับนี้ไม่เหมาะสมสำหรับสิ่งมีชีวิตบนโลก

 

2. เป็นเกราะป้องกันอนุภาคต่าง ๆ ที่มาจากนอกโลก

เนื่องจากในแต่ละวันจะมีอุกกาบาต ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่จากภายนอกโลก พุ่งเข้ามายังพื้นโลกวันละหลายล้านลูก อุกกาบาตเหล่านี้เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงมาก เมื่ออนุภาคเหล่านี้เสียดสีกับอากาศที่ห่อหุ้มโลก จะเกิดความร้อนสูงและลุกไหม้จนหมด หรือมีขนาดเล็กลงก่อนตกลงสู่พื้นโลก เกิดเป็นหลุมอุกกาบาตขนาดต่าง ๆ ในหลายพื้นที่

 

3. ช่วยป้องกันอันตรายจากรังสีต่างๆ ที่มาจากดวงอาทิตย์

รังสีอัลตราไวโอเลต หากมีปริมาณมากเกินไปจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ สัตว์ และพืช เนื่องจากเป็นรังสีที่มองไม่เห็น ทำให้เซลล์ผิวหนังถูกทำลาย และอาจทำให้เป็นมะเร็งผิวหนังได้ ซึ่งรังสีอัลตราไวโอเลตที่มาจากดวงอาทิตย์นั้นจะถูกแก๊สโอโซนในบรรยากาศดูดกลืนไว้บางส่วน

 

4. มีส่วนประกอบที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

ส่วนผสมของแก๊สต่าง ๆ ในอากาศ ช่วยให้เกิดกระบวนการบางอย่างที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต เช่น แก๊สออกซิเจนเป็นแก๊สที่ใช้ในกระบวนการหายใจ แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เป็นแก๊สที่ใช้ในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช