พฤติกรรมของสัตว์เปลี่ยนไปเมื่อเกิดการเรียนรู้ หรือมีเงื่อนไงต่าง ๆ เช่น พฤติกรรมเมื่อเกิดการเรียนรู้ พฤติกรรมเมื่อเกิดการเรียนรู้แบบมีเงื่อนไข พฤติกรรมเมื่อเกิดการเรียนรู้แบบฝังใจ หรือการเรียนรู้แบบลองผิดลองถูก
1. การตอบสนองพฤติกรรมเมื่อเกิดการเรียนรู้ เป็นพฤติกรรมที่สัตว์หยุดตอบสนองต่อสิ่งเร้าเดิม แม้จะยังได้รับการกระตุ้นอยู่ เนื่องจากสัตว์เรียนรู้แล้วว่าสิ่งเร้านั้น ไม่มีผลต่อการดำเนินชีวิตของตนเอง เช่น
![](https://static.trueplookpanya.com/tppy/member/m_612500_615000/614766/cms/images/shutterstock_518023699.jpg)
- การที่นกลดอัตราการบินหนีหุ่นไล่กา
- การที่นกหยุดบินหนีเมื่อรถแล่นผ่านรังของมันที่อยู่บนต้นไม้ริมถนน
- การเลิกแหงนมองตามเสียงเครื่องบินของสุนัขที่อาศัยอยู่บริเวณสนามบิน
2. การตอบสนองพฤติกรรมเมื่อเกิดการเรียนรู้แบบมีเงื่อนไข เป็นพฤติกรรมการตอบสนองสิ่งเร้าที่ไม่แท้จริง มีเงื่อนไข เช่น
- สุนัขหลั่งน้ำลายเมื่อได้ยินเสียงกระดิ่ง
- การฝึกสัตว์ไว้ใช้งาน ฝึกสัตว์แสดงละครสัตว์
3. การตอบสนองพฤติกรรมเมื่อเกิดการเรียนรู้แบบฝังใจ เป็นพฤติกรรมที่ตอบสนองสิ่งเร้าในช่วงแรกของชีวิตด้วยการจดจำสิ่งเร้าต่าง ๆ ได้ เช่น
![](https://static.trueplookpanya.com/tppy/member/m_612500_615000/614766/cms/images/shutterstock_148260731w.jpg)
- การที่สัตว์ต่างๆ เดินตามแม่เพราะสิ่งแรกที่เห็นเมื่อเกิดมาคือแม่
- ปลาแซลมอนจะฝังใจต่อกลิ่นที่ได้สัมผัสเมื่อออกจากไข่ และเมื่อเติบโตขึ้นถึงช่วงวางไข่จะว่ายทวนน้ำกลับไปวางไข่ยังบริเวณแหล่งน้ำที่เคยฟักออกจากไข่
4. การตอบสนองพฤติกรรมเมื่อเกิดการเรียนรู้แบบลองผิดลองถูก เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกโดยการให้สัตว์มีการทดลองก่อน จะทำให้สัตว์เกิดการเรียนรู้ที่เลือกตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เป็นผลดีหรือพอใจเท่านั้น เช่น
- เด็กเอามือไปจับของที่ร้อน ๆ เมื่อเกิดการเรียนรู้จะไม่ทำพฤติกรรมเช่นนี้อีก
- การเดินในทางวกวนไปหาอาหารของหนู และหนูสามารถเดินทางไปหาอาหารและหาทางออกได้ในระยะเวลาอันสั้น หลังจากที่ได้ทดลองเดินมาก่อน
เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร